ฉลองภพ ชี้ วิกฤต ศก.รอบนี้ แย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 41 คาด ต้องใช้เวลานาน 3-4 ปี กว่าจะฟื้นตัว ยอมรับ สถานการณ์ต่างๆ บริหารจัดการได้ยากกว่า ชี้ เป้าปัญหา ส่งออกทรุด-ว่างงานพุ่ง ยิ่งปล่อยนานยิ่งแก้ยาก หวั่นมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อแป้ก คนขาดความเชื่อมั่น-ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะไม่มั่นใจอนาคต แนะรัฐต้องเป็นนายจ้างเอง สร้างงานในระดับหมู่บ้าน โดยใช้โครงการลงทุนพื้นฐาน
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ โดยระบุว่า ไทยกำลังเริ่มเข้าสู่วิกฤตแท้จริงเศรษฐกิจจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก และเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ หนักกว่าต้มยำกุ้งในปี 2541 เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการบริหารจัดการได้ยากกว่า และคาดว่า ต้องใช้เวลาฟื้นตัวถึง 3-4 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย
“เมื่อปี 2541 เป็นวิกฤตสถาบันการเงิน แต่ก็ยังมีส่งออกมาช่วยรองรับ แต่ปีนี้ปัญหามีความสลับซับซ้อนมากกว่า เมื่อการส่งออกมีปัญหา จะมีอะไรมารองรับคนตกงาน และหากยิ่งปล่อยเวลานาน ปัญหาก็ยิ่งยาว ลุกลามไปเป็นปัญหาสังคมและการเมือง แต่ปี 2541 เราใช้เวลา 5 ปีกว่าระดับการผลิตจะกลับมา แต่ปีนี้มองว่าเราคงต้องใช้เวลา 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และถือเป็นความท้าทาย”
นายฉลองภพ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกหดตัวลดลงอย่างมาก และเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น เห็นว่ารัฐบาลจะต้องมีแนวทางรองรับ เพราะหากการส่งออกหดตัว 10-20% จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาคนตกงานมากขึ้น
นายฉลองภพ กล่าวเสริมว่า นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน คงไม่สามารถใช้ได้ผลในภาวะที่ไม่มีความมั่นใจ คงจะไม่มีการบริโภค เพราะอยู่ในภาวะเสี่ยงตกงาน เงินเดือนไม่ขึ้น คนออมมีรายได้ลดลง เพราะผลตอบแทนดอกเบี้ยลดลง จึงเห็นว่า รัฐบาลควรหันมาสนใจปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)
ทั้งนี้ เห็นว่า แนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม หลังเกิดภาวะคนตกงานมากขึ้นได้นั้น รัฐบาลจะต้องเป็นนายจ้างเอง ทำให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้าน เช่น หากมีการจ้างงาน 10 ตำแหน่งต่อหมู่บ้าน ก็จะเกิดการจ้างงานทั่วประเทศแล้กว่า 7 แสนตำแหน่ง ขณะนี้ที่โครงการฝึกอบรมคงไม่สามารถเกิดผลได้หากไม่มีงานทำ
พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งให้ความสำคัญในการดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นการใช้จ่ายที่มีเงินหมุนเวียนได้ดีที่สุดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทุกการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว 1 บาท จะช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 2 บาท
อย่างไรก็ตาม ระยะปานกลาง รัฐบาลจำเป็นต้องหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวนำเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า และให้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และกองทัพ หันมาส่งเสริมการใช้และผลิตสินค้าในประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งด้านวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
นายฉลองภพ กล่าวอีกกว่า ตอนนี้ทุกประเทศกำลังเผชิญปัญหาด้านกำลังซื้อน้อยลง และเป็นในเวลาพร้อมๆ กัน ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการส่งออก และถือเป็นสภาพความเป็นจริงของโลก ที่กำลังการผลิตมีมากกว่ากำลังซื้อของโลก