xs
xsm
sm
md
lg

รมต.อาเซียนหารือแก้วิกฤต ชู"อาหาร-พลังงาน-การเงิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนถกแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และวิกฤตการเงินวันนี้ เพื่อหาทางป้องกันผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ก่อนชงสุดยอดผู้นำอาเซียนพิจารณา พร้อมหามาตรการรับมือการกีดกันทางการค้าที่หลายๆ ประเทศเริ่มนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) จะเริ่มการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันนี้ ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยประเด็นที่จะมีการพิจารณานอกเหนือจากความคืบหน้าการผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประเด็นทางด้านการค้าอื่นๆ รัฐมนตรีอาเซียนจะมีการหารือในประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ทั้งเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และวิกฤตทางการเงิน

ทั้งนี้ ในประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานนั้น อาเซียนจะมีการหารือเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้วิกฤตในเรื่องนี้เกิดขึ้นอีก หลังจากปีที่ผ่านมา ได้เกิดความผิดปกติในด้านอาหารและพลังงาน ที่ส่งผลทำให้พืชอาหารและพืชพลังงาน มีราคาเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งอาเซียนจะเน้นถึงความช่วยเหลือให้กับสมาชิกในอาเซียนก่อน หากมีปัญหาเกิดขึ้นอีก

ส่วนประเด็นวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้น จะมีการหารือถึงผลกระทบที่ประเทศอาเซียนได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และลุกลามไปยังเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งอาเซียน ซึ่งอาเซียนจะมีการหารือถึงแนวทางในการรับมือกับวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นว่าจะมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร

“ผลการหารือที่ได้จะนำเสนอให้ผู้นำพิจารณากันในการประชุมวันที่ 1 มี.ค. ก่อนที่อาเซียนจะมีท่าทีในเรื่องดังกล่าวออกมา”รายงานข่าวระบุ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมการค้าโลก เพราะผลจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หลายๆ ประเทศได้หันไปให้ความสำคัญกับตลาดของตนเอง เช่น สหรัฐฯ ที่เน้นตลาดภายในจากนโยบาย บาย อเมริกัน และสหภาพยุโรป (อียู) ที่เพิ่มการให้การอุดหนุนมากขึ้น

อาเซียนเห็นว่า หากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ หันมาใช้มาตรการปกป้องทางการค้าจนเกินไปกว่ากติกาที่องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดไว้ ก็จะเป็นปัญหา และยิ่งทำให้ตลาดการค้าหดตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาเซียนจะต้องมีท่าทีในเรื่องนี้ออกมา

ส่วนประเด็นอื่นๆ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการหารือถึงผลการดำเนินงานของอาเซียนในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการเปิดเสรีการค้าสินค้า ที่ขณะนี้อาเซียนได้มีการลดภาษีนำเข้าลงมาเป็นลำดับ และจะลดเป็น 0% ทั้งหมดตั้งแต่ 1 ม.ค.2553 ส่วนสินค้าที่มีการชะลอการยกเว้นภาษี หรือบางประเทศไม่ยอมลดภาษี ก็จะมีการหารือเพื่อให้นำเข้าสู่กระบวนการลดภาษีต่อไป ในด้านการเปิดเสรีภาคบริการ จะหารือถึงการดำเนินการเปิดเสรีในขั้นต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจบริการอาเซียนอื่นไม่น้อยกว่า 70% ในปี 2558 ด้านการลงทุน จะมีการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการลงทุน การให้ความคุ้มครองนักลงทุนอาเซียน รวมทั้งการส่งเสริมอำนวยความสะดวกการลงทุน ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะหารือถึงความร่วมมือทางศุลกากร การยอมรับมาตรฐานสินค้าระหว่างกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการหารือในประเด็นการกำหนดวิธีการวัดผลการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการกำหนดตัวชี้วัด (Scorecard) ตามแผนงานและระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน AEC Blueprint เพราะหากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะส่งผลกระทบต่อการไปสู่เป้าหมายในการเป็นตลาดร่วมอาเซียนในปี 2558 ได้

สำหรับเหตุผลที่อาเซียนต้องก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เพราะอาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 570 ล้านคน จะเป็นฐานการผลิตร่วม ซึ่งจะไม่มีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานฝีมือระหว่างกัน ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและการทำธุรกิจ และนำไปสู่โอกาสทางการค้าและธุรกิจ รวมทั้งการที่อาเซียนทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ จะช่วยขยายตลาดสำหรับสินค้าและบริการของอาเซียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย

ในส่วนของไทย อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มีมูลค่าการส่งออกไปตลาดอาเซียนประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 21% ของการส่งออกรวมของไทย และตั้งแต่เริ่มใช้ข้อตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียน โดยในปี 2551 ได้เปรียบดุลการค้า 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้านการลงทุนของไทยในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2531-2550 มีการลงทุนสะสม 2.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสาขาที่ลงทุน เช่น พลังงานในพม่า ลาว แปรรูปสินค้าเกษตรในเวียดนาม มาเลเซีย บริการโรงแรม ภัตตาคารและโรงพยาบาล ส่วนการดึงการลงทุนจากภายนอก ไทยเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

สำหรับกำหนดการประชุมในวันนี้ (27 ก.พ.) ในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 14 ฝ่ายไทยมีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ จากนั้นจะเป็นการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 1 มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ โดยอาเซียนทุกประเทศยกเว้นไทยกับอินโดนีเซีย มอบ AEM ทำหน้าที่ AEC Council ส่วนช่วงบ่าย จะมีการลงนามในเอกสารสำคัญด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ เอฟทีเออาเซียน-เกาหลี อาเซียน-จีน อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ช่วงเย็น จะเป็นงานเลี้ยงต้อนรับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน

วันที่ 28 ก.พ. ช่วงเช้าเป็นการประชุมสุดยอด IMT-GT ช่วงบ่ายเป็นพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน จากนั้นผู้นำพร้อมคู่สมรสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล ช่วงเย็นเป็นงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ

วันที่ 1 มี.ค. ช่วงเช้า ถ่ายภาพร่วมกัน และผู้นำอาเซียนจะร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 อย่างไม่เป็นทางการ และจะมีการลงนามเอกสารสำคัญ โดยมีผู้นำอาเซียนเป็นสักขีพยาน จากนั้นจะเป็นการแถลงข่าวโดยนายกรัฐมนตรีของไทย และเป็นเจ้าภาพรับรองอาหารกลางวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น