xs
xsm
sm
md
lg

ผู้กู้รายย่อยต้องเข้าหาแบงก์ เจรจา “ใช้ทรัพย์ชำระหนี้” ต้องจบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิโรจน์ นวลแข (ภาพจากนิตยสารผู้จัดการ 360°)
สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาคนตกงานในไทยเริ่มน่ากลัว กำลังลามไปสู่การผิดนัดชำระหนี้จนก่อให้เกิดหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น หากปล่อยให้สถานการณ์เหล่านี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแค่ลูกค้ารายย่อย ธนาคารพาณิชย์ก็มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาทุกครั้ง ประชาชนมักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด “วิโรจน์ นวลแข” จึงอาสามาให้คำปรึกษา “บริการทางการเงิน-หุ้น” ทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ภายใต้รูปแบบ “คลีนิคประชาชน” ท่ามกลางวิฤตเศรษฐกิจ อย่างที่ไม่เคยมีผู้บริหารคนไหนเคยทำมาก่อน

สัปดาห์นี้ว่าด้วยแนวทางการเจรจาหนี้ที่เป็นธรรมเพื่อป้องกันการเกิด NPL บนเงื่อนไขที่ผู้กู้และแบงก์ ไม่เสียหายแต่ยังวินวิน ... ทั้งคู่!

ภาวะเศรษฐกิจทำคนตกงานส่งผลต่อหนี้เสียแบงก์

ต้องมีแนวทางเข้ามาดูแลแก้ไข อย่างแรก การผิดนัดชำระหนี้เกินกว่ากำหนด ที่ผ่านมา ผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือ เครดิตบูโร แต่ก็เป็นได้แค่ศูนย์กลางการส่งสาร ส่วนนี้ควรจัดทำระบบสกอริง (Scoring) ที่ดี ช่วยให้คนมีเครดิตบ้าง ไม่ใช่เอาแต่เรื่องร้ายไปให้เขา ตรงนี้ก็ต้องรอว่าอยู่ระหว่างการจัดเครดิตสกอริง แต่เพื่อเป็นการป้องกันว่าเครดิตบูโรทำให้เราเสียหาย เพราะเอาข้อมูลไปแล้วยังไม่ได้ทำสกอริง ก็ต้องมาดูกันที่ตัวต้นเหตุที่นำมาสู่ปัญหา นั่นก็คือ “ตัวผู้กู้กับธนาคารผู้ให้กู้”

เราจะเห็นพฤติกรรมผู้กู้รายย่อย เวลาไปกู้มักจะให้ความสำคัญมากเลยกับแสดงตัวว่าอยากจะได้เงินกู้ แต่พอเวลาเป็นหนี้มีปัญหากลับไม่ยอม ไม่กล้าที่จะแสดงตัว ทั้งๆที่ตอนที่มีปัญหาน่าจะพูดกับธนาคารมากกว่าตอนขอกู้ แต่กลับหลบ ทั้งๆที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีกฎระเบียบอยู่แล้วว่า ถ้าใครไปปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ไม่ว่าเป็นในเงื่อนไขที่ดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ยก็ตาม ธนาคารต้องถือว่าไม่เป็นเอ็นพีแอล ก็จะไม่ปรากฏรายชื่อของเครดิตบูโร แต่เราจะไปโทษรายย่อยก็ไม่ถูกต้องนัก

แน่นอน หากมีปัญหาตอนนี้จึงเป็นช่วงที่ผู้กู้จะต้องรู้จักเข้าไปคุยกับธนาคารที่เรากู้อยู่ อธิบายถึงความจำเป็น เพื่อความเข้าใจ ด้านธนาคารเองก็ต้องรู้ว่า ภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ มันอยู่เหนือความควบคุม เหตุมันเกิดเพราะ หนึ่ง เศรษฐกิจโลกตกต่ำ สอง การเมืองในประเทศไม่นิ่ง สาม การประกาศมาตรการความช่วยเหลือของ 2 รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจน มาถึงรัฐบาลนี้ก็ยังเพิ่งเริ่ม เพราะฉะนั้น ในช่วงที่คนกำลังจะถูกปลดออกจากงานระยะๆ มันจะเกิดเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่คล้ายว่าทุกคนจะต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นธนาคารมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้กู้ แต่ที่ผ่านมาธนาคารไม่ได้ทำหน้าที่กับรายย่อยเท่าที่ควร

ธนาคารเองต่างหาก ที่ไปเร่งรัดลูกหนี้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร ลูกหนี้เองมีปัญหาหลบหน้าธนาคารไปก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน ทุกคนต้องหันมาทำความเข้าใจกันว่าเรื่องเหล่านี้มันมีทางออก กฎเกณฑ์ก็มีอยู่อย่างที่บอกไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีใช้มาตั้งแต่ปี 2540 คราววิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ก็คือต้องการให้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ซึ่งกฎเกณฑ์ก็ยังมีผลใช้อยู่ ที่สำคัญคือต้องเปิดใจคุยกัน ผ่อนผันกันเท่าที่จะทำได้หรือให้ได้

ตอนนี้เป็นตอนที่ทุกคนอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างจะเศร้า เศรษฐกิจก็ไม่ดี งานก็จะไม่มีทำ หาเลี้ยงชีพก็ลำบาก ซึ่งธนาคารก็ต้องเข้าใจถึงสถานภาพที่เป็นอยู่ เข้าใจว่าการตกงานเป็นเรื่องลำบากของชีวิต เพราะฉะนั้นวิธีการก็คือ ทำอย่างไรที่จะยืดหนี้ให้เขาได้

วิธีการที่สองที่ธนาคารจะทำได้ คือ ถ้าลูกหนี้ยอมชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่เขามีอยู่ แล้วเรื่องต้องจบ ไม่ใช่ว่าพอชำระแล้วเอาไปขาย แล้วไม่พอกับมูลหนี้ แล้วก็ต้องมาฟ้องเรียกคืนส่วนขาดอีก มันไม่ได้

อย่างรถยนต์นี่ เอามาชำระแล้ว เอาไปขายได้ราคาบ้าบอคอแตกอะไร ที่เหลือมาฟ้องร้องเรียกคืนอีก มันไม่ถูก ต้องตกลงตั้งแต่ต้นเลยว่า ถ้าเอาของผมไป ขายได้แล้ว เสร็จแล้วต้องจบ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องแก้เกณฑ์หรือมาตรฐานของธนาคารอะไรเลย เพราะเป็นเรื่องที่ตกลงกันระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ชำระหนี้ด้วยทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ บ้าน ก็จบได้

สุดท้ายหากลูกหนี้ไม่ได้ไปติดต่อเวลามีปัญหา กระบวนการต่อไปก็จะต้องฟ้องร้อง บังคับจำนอง ตรงนี้เป็นขั้นตอนที่ไม่เอื้อต่อทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้เลย เพราะกฎกติกาก็คือเมื่อถูกบังคับจำนอง ราคาขายวันนี้ 100% ปรากฏว่าถ้าขายไม่ได้ ครั้งที่ 2 สามารถตั้งราคาลดลงได้ 50% เลย ยังขายไม่ได้อีก ครั้งที่ 3 นี่ลดลงเหลือ 25% ได้เลย อันนี้มันไม่แฟร์ต่อใครเลย ลูกหนี้ก็ไม่แฟร์ เจ้าหนี้ก็ไม่แฟร์ เพราะว่ามันทำให้ภาระหนี้สินไม่มีที่สิ้นสุด แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่มาซื้อตอนราคา 25% จริงๆแล้วประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ก็ไม่ได้ มันเป็นขายที่เรียกว่าระบบ Fire Sale คือการบังคับให้ทรัพย์ขายออกไปโดยไม่เป็นประโยชน์ ไม่เพียงส่งผลต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ ยังส่งผลเสียหายไปถึงไปพื้นที่บริเวณรอบๆทรัพย์นั้นด้วย จะได้รับผลกระทบไปหมด มีคนที่รับประโยชน์อยู่คนเดียวก็คือคนที่มาซื้อไปในราคาถูก คนอื่นไม่แฮปปี้เลย ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือคนที่รอบข้างหรือมีที่ดินใกล้เคียงกันไม่ได้ประโยชน์ เพราะทำให้ราคาที่ดินของเขาตกตามไปด้วย

ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐถึงทำอย่างนี้ ทำให้ทรัพย์สินในประเทศที่ลดลง ก็เพราะระบบแบบนี้ มันไม่ได้เป็นกระบวนการที่ช่วยประชาชน มันเป็นกระบวนการที่คล้ายๆว่าให้เกิดถ่ายโอนทรัพย์ไปในสิ่งที่ไม่ควรเป็น ลูกหนี้ก็แย่ เจ้าหนี้ก็แย่ คนที่อยู่รอบๆทรัพย์ก็แย่ ขายเหมือนขายโละทิ้ง ซึ่งการขายแบบนี้กรณีเดียวที่ทำได้คือเป็นของที่อยู่สต๊อกนานแล้ว เจ้าหนี้ได้ถือที่ดินแปลงนี้เป็นระยะเวลาอันควร ถึงจะทำได้ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปีขึ้นไป แต่จริงๆแล้วทรัพย์ที่ถือยาวน่าจะราคาเพิ่มขึ้น

สรุปก็คือกรณีการขายลดจาก 100% 50% มา 25% ของกรมบังคับคดี ควรเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ถือมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะการขายทรัพย์แบบนี้จะเป็นการเปิดช่องให้นายทุนที่มีเงินมากเห็นช่องทางที่จะเข้ามาซื้อทรัพย์ในราคาที่ถูก ซึ่งรีบร้อนขายแบบนี้บางที่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ยังไม่รู้เลยว่าทรัพย์ของตัวเองถูกขายไปแล้วในราคา 25% เพราะไม่มีใครตั้งตัวทัน ทำให้ไปเป็นประโยชน์กับบุคคลที่สาม ไม่ใช่ประโยชน์คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว

จะทำระบบอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นอีก

ก่อนที่จะมีการฟ้องร้องควรจะระบบหรือระเบียบที่จัดตั้งออกมาว่า ลูกหนี้กับเจ้าหนี้สามารถเจรจาชำระหนี้ได้แล้วก็ต้องมาต้องโจทย์ว่าโดยพื้นฐานอะไร ก็คือต้องมีสำนักงานประเมินที่ได้รับการอนุญาตแล้ว มาเป็นคนกลางในการประเมินมูลค่าทรัพย์ เมื่อราคาประเมินออกมาแล้ว ราคาขายก็ไม่ควรบวกลบจากราคาขายมากนัก แต่เท่าที่ทราบก็มีกรณีว่าประเมินราคาออกมาสมมติ 250 ล้านบาท แต่ธนาคารเอาแค่ 175 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือจะฟ้องเอาซึ่งตรงนี้ไม่กฎเกณฑ์กฎหมายอะไรเข้ามาช่วย ฉะนั้นตรงนี้เราต้องการเหลือเกินถึงระเบียบที่จะต้องบอกถ้าไม่ต้องมีการฟ้องบังคับจำนองกันเป็นเจรจายอมกันชำระหนี้กันปกติจะมีกฎกติกาอะไรให้เล่นได้บ้าง

บริษัทประเมินทรัพย์สินที่มีไลน์เซนส์ (ใบอนุญาต) อยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่หลายแห่งนี้ ทำไมไม่ใช่ตัวนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเป็นคนที่จะให้ราคาทรัพย์ได้ มันควรจะมีกติกากลาง แล้วมันควรจะจบได้ตั้งแต่ตอนที่ลูกหนี้เอาทรัพย์มาชำระหนี้แล้ว ถ้ามีกติกาที่เป็นพื้นฐานอยู่ เจ้าหนี้ก็ต้อง “เยส” ลูกหนี้ก็ต้อง “เยส” ไม่ใช่เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายมาบีบเอาว่าทรัพย์นี้จะเอาราคาเท่านี้ หรือเอาไปบังคับจำนอง แล้วถูกไปบีบราคาลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะกระทบคนในวงกว้าง ต้องมีตรงนี้ก่อนที่จะไปถึงขั้นการฟ้องร้อง

นอกจากนี้ อย่าลืมว่าการขายระบบทอดตลาดแบบ 100% 50% 25% นี่ต้องคิดด้วยว่า การรับจำนองเป็นราคาที่ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ตกลงยอมรับกันแล้ว แต่ทำไมราคาตกลงมากขนาดนี้ แล้วพอมาขายจริงถึงได้ราคาต่ำขนาดนี้ ได้แค่ 25% ขนาด 50%ก็คิดได้ยากแล้ว แต่ตรงจุดนี้ ราคาที่ลดลงอาจจะเป็นเพราะขายยาก ขายได้ช้า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะข้อมูลไม่ดี จึงต้องมีการจัดข้อมูลกลางของบ้านมือสอง เพื่อรองรับด้วย

“ตกงาน บ้านถูกยึด ตัวเองยังเป็นหนี้ต่อ ความเครียดในสังคมก็จะเกิดขึ้นมาก ตอนนี้คนจะทุกข์ใจเรื่องนี้มาก ตกงาน ไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วก็กลัวจะต้องถูกบังคับขายในราคาที่ต่ำ ก็จะทำให้ราคาบ้าน ราคารถมือสองโดยภาพรวมราคาลดลงเร็วมาก ซึ่งเป็นเพราะไม่มีดูแลระบบการขายให้สมบูรณ์ แล้วถ้าทำระบบตรงนี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกอย่างคือการต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบจนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว กลายเป็นปัญหาระดับชาติไปอีก”

ในส่วนหนี้บัตรเครดิตตอนนี้มีปัญหาเหมือนกัน

หนี้บัตรเครดิตจะถูกกำหนดโดยทางการให้ลูกหนี้บัตรเครดิตต้องชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ในระดับที่กำหนด แต่ด้วยความเป็นบัตรเครดิตมันควรจะปล่อยตามเทอมการค้า สมมติว่าถ้ามีหนี้สินบัตรเครดิตอยู่ แล้วตกงาน เขาก็น่าจะยืดเวลาได้ 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปีก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควรกับลูกหนี้แต่ละราย จะมายึดรูปแบบเดิมว่าต้องผ่อนชำระให้มากๆ เพื่อดูวินัยการใช้เงิน มันเป็นไปไม่ได้

บัตรเครดิตก็ถือเป็นสินเชื่อรูปแบบหนึ่ง มันย่อมให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ได้ ไม่ใช่ว่าจำเป็นต้องรีบใช้ ถือเสมือนเป็นสินเชื่ออย่างหนึ่งของธนาคาร ซึ่งในภาวะอย่างนี้ควรจะมีการตกลงกันได้เป็นราย เป็นกรณีๆ ไป ต้องมีการเลื่อนชำระหนี้ ลดจำนวนผ่อนส่งได้ เป็นต้น เพราะเจ้าหนี้และลูกหนี้ก็มีความต้องการเหมือนกัน ก็คือ ไม่อยากจะให้หนี้เสีย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีช่องให้เขาขยับด้วย

แล้วก็ปัญหาอีกอันที่เจ้าหนี้มักกล่าวอ้างกัน คือคุณเซ็นสัญญาไปแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ตรงนี้เจ้าหนี้ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า การเซ็นสัญญาตอนนั้นใครจะไปรู้ว่าเหตุการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมายการควบคุมจะเกิดขึ้นในโลก เซ็นสัญญาที่ทำไปแล้วแก้ไขได้ ทำสัญญาแนบท้ายได้เป็นการอะลุ้มอล่วยให้ทั้งคู่รอด ไม่ใช่ตะแบงว่าเซ็นสัญญาไปแล้วต้องตามนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันไม่ได้เกิดที่เรา แม้แต่ปัจจัยประเทศไทยก็ควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้น เครดิตสกอริงก็ดี National Housing Policy ก็ดี กระบวนการประนอมหนี้ที่การชำระหนี้ด้วยทรัพย์ต้องจบตรงนั้นต้องมี

“การเอาทรัพย์สินไปชำระหนี้ ต้องจบ เพราะราคาทรัพย์ของลูกหนี้เพียงพออยู่แล้ว ไม่งั้นแบงก์คงไม่ให้กู้ ส่วนหรือถูกบังคับจำนอง แล้วเอาไปได้มา 50% มันไม่ไหวทารุณเกินไป แถมยังไม่จบยังต้องมีหนี้อีก คนๆนั้นเลยเป็นกลายคนที่ชาตินี้ไม่ต้องเกิดกันในทางเครดิต ถ้ามีคนอย่างนี้เยอะๆขึ้นแล้วประเทศมันจะไปรอดหรือ เราต้องเลิกระบบที่ให้ลูกหนี้ชำระหนี้แถมจ่ายดอกเบี้ยไม่จบสิ้น นี่ยังไม่พูดถึงภาคเกษตรกรที่ควรจะมีระบบนี้เช่นกัน ควรจะมีการพักชำระหนี้ให้ยาวขึ้น หนี้ก้อนใหม่ต้องปล่อยให้ทำกิน แล้วค่อยเก็บตามฤดูกาลพืชผล ไม่งั้นก็ไม่ไหว”

ใครหรือหน่วยงานไหนเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นจริง

ต้องเป็นรัฐบาล เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของความอยู่รอดของคนส่วนมากกับสังคมโลกที่มันเปลี่ยนไป เพราะสังคมโลกตอนนี้มันไม่ได้พูดถึงการได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าแล้ว หรือการเสียวินัยทางการเงินแล้ว แต่พูดถึงการอยู่รอดแล้ว เพราะมันไม่มีใครจะรอดได้ถ้าเศรษฐกิจโลกพังพินาศ เพราะมันเป็นระบบใหญ่ ไม่ได้มารอดูเรื่องการชำระหนี้ให้ตรงเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องให้โอกาสลูกหนี้ ลูกหนี้ก็ต้องมีโอกาสที่จะทำตัวให้รอด ดีกว่าทำให้ทุกคนล้มละลายหมด แล้วเดี๋ยว 3 ปีก็มาเจอกันอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น