บิ๊กทีจี เตรียมเสนอแผนกู้วิกฤต-ปรับโครงสร้างองค์กร เข้าที่ประชุม “บอร์ด” เซ็นทิ้งทวน พรุ่งนี้ “คลัง” แนะทางรอด ต้องปฏิวัติระบบ “คุณหนู” ยกเลิกแบกภาษีเงินได้แทนพนักงาน เพราะสร้างภาระให้บริษัทถึงปีละ 4-5 พันล้านบาท โดยแนะแลกกับการปรับขึ้นเงินเดือน 1% เพื่อซื้อใจ ส่วนระดับผู้บริหาร-บอร์ด ต้องยกเลิกการรับผลประโยชน์ทั้งหมด
พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดทุนและวิกฤตสภาพคล่องทางการเงิน โดยระบุว่า ล่าสุด อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างองค์กร โดยเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ และคาดว่า จะเสนอเข้ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยแนะนำว่า หากผู้บริหารการบินไทย ต้องการแก้ปัญหาสภาพคล่อง และผลประกอบการที่ตกต่ำขององค์กร นอกเหนือจากการปรับเที่ยวบิน และเส้นทางบินแล้ว สิ่งที่ฝ่ายบริหารสมควรกระทำที่สุด คือ ยกเลิกการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลแทนพนักงาน ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี เพราะกรณีดังกล่าวไม่มีเอกชน หรือองค์กรรัฐวิสาหกิจใดปฏิบัติ
พร้อมกันนี้ ยังแนะนำว่า ฝ่ายบริหารควรปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แต่ต้องปรับให้ตามสภาพและสถานะของบริษัทในเวลานี้ เช่น อาจจะปรับขึ้นให้คนละ 1% และมีเงื่อนไขว่าให้พนักงานรับผิดชอบภาษีเงินได้เอง พร้อมจ่ายโบนัสให้กับพนักงานด้วย โดยฝ่ายบริหารรวมทั้งบอร์ดทุกคน จะต้องแสดงความเสียสละด้วยการไม่รับโบนัส
ทั้งนี้ การพิจารณาแผนปรับปรุงธุรกิจ การบินไทย เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร ยังไม่มีอะไรแปลกใหม่ ที่จะช่วยแก้วิกฤตที่เผชิญอยู่ได้ เพราะส่วนใหญ่ คือ การปรับเพิ่ม หรือลดเที่ยวบินตามความต้องการของผู้โดยสาร หรือการลดค่าใช้จ่ายปลีกย่อย ซึ่งเป็นกรณีปกติที่ การบินไทย เคยทำมาตลอด
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สำนักเลขานุการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ระบุว่า บริษัทกำลังจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ (Business Improvement Plan) ของปี 2552-2554 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานรองรับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และแก้ไขปัญหาสถานการณ์การเงิน ซึ่งจะเน้นการเพิ่มรายได้เช่นการเพิ่มรายได้ต่อหน่วย (Yield) การปรับปรุงระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
การปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางน้อยและไม่ทำกำไร การบริหารจัด การค่าใช้จ่าย เช่น การลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงการบิน การควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากร ชะลอการลงทุนที่ยังไม่จำเป็นและไม่กระทบต่อการสร้างรายได้ของบริษัท การบริหารจัดการทรัพย์สิน เช่น การทบทวนแผนการปรับปรุงฝูงบิน และการปลดระวางเครื่องบินเก่า รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การปรับปรุงที่นั่ง และระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยบริษัทได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายวางแผน ผู้แทนสายการพาณิชย์ ผู้แทนสายการเงินการบัญชี นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกมาให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าการจัดทำแผนจะแล้วเสร็จและรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 นี้