บัตรเทวดา "อีลิทการ์ด" ยุคทักษิณ เตรียมปิดตำนานฉาว นายกฯ สั่งแจงแผนบริหารงาน หลังขาดทุนบักโกรกต่อเนื่องทุกปี ขีดเส้นตายภาย 2 สัปดาห์ โดยสั่งให้ไปทำตัวเลขทั้งหมด แล้วนำกลับมาเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา โดยเตรียมแนวทางการดูแลสมาชิก หากมีการยกเลิกโครงการนี้ พร้อมให้ไปหาแนวทางแก้ไขในการชดเชย เพราะในอนาคตจะมีการยกเลิก
นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (25 มกราคม 2552) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลับไปจัดทำรายละเอียดแผนการบริหารงานโครงการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษสำหรับสมาชิกไทยแลนด์อีลิทการ์ด เนื่องจากเห็นว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และให้นำกลับมาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์
"นายกฯ ตั้งข้อสังเกตถึงภาวะการคุ้มทุน เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมาประสบภาวะการขาดทุน จึงให้กลับไปดูว่าจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกอย่างไร หากในอนาคตจะมีการยกเลิก" รองโฆษกฯ ระบุ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงภาระและความคุ้มทุนของโครงการนี้ ได้รับรายงานว่ามีสมาชิก 2,570 ราย ขาดทุนสะสมจนถึงปี 2549 จำนวน 1,142 ล้านบาท แต่ปี 2550-2551 ยังไม่รายงานว่าขาดทุน แต่ตัวเลขทั้งหมดยังไม่ได้รับ แต่ขาดทุนมาตลอดอย่างไรก็ตามต้องมีเงินสดหมุนเวียนในบริษัท โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถือหุ้นอยู่ 100% ในวงเงิน 547 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในโครงการไทยแลนด์อีลิทการ์ด พบว่ามียอดขาดทุนทุกปี โดยปี 2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่ามีสมาชิก 139 ราย ขาดทุน 134 ล้านบาท ต่อมาในปี 2547 มีสมาชิก 466 ราย ขาดทุนสะสม 384 ล้านบาท และในปี 2548 มีสมาชิก 251 ราย ขาดทุนสะสม 843 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ครม.ให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และได้มอบนโยบายให้ไปดูแลผู้ที่เป็นสมาชิก ให้ได้รับสิทธิตามที่ได้ตกลงไว้ แต่ให้แนวทางไว้ว่าให้เสนอทางเลือกว่าจะมีการยกเลิกโครงการดังกล่าวในอนาคตอย่างแน่นอน โดยให้เวลาปลัดกระทรวง 2 สัปดาห์ ไปทำตัวเลขทั้งหมดมาเสนอว่าจะมีการดูแลสมาชิกอย่างไร ถ้ามีการยกเลิกโครงการนี้ ไปหาแนวทางแก้ไขในการชดเชย เพราะในอนาคตจะมีการยกเลิก