ธปท.คุมตลาดเงินไม่อยู่ แบงก์เมินปล่อยสินเชื่อ ศก.อาจชะงักยาว ผู้บริหาร ยันบาเซิล 2 ไม่ใช่อุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อตามที่เป็นข่าว แต่กลับจะเป็นผลดีที่จะเอื้อประโยชน์-สนับสนุนการขยายสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี แนะธนาคารควรต้องปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ลั่นเดินหน้าบังคับธนาคารพาณิชย์ใช้เกณฑ์บาเซิล 2 เต็มรูปแบบภายในปลายปีนี้ พร้อมยืนยัน ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้เริ่มต้นการใช้เกณฑ์บาเซิล 2 ขั้นที่ 1 คือ การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำร้อยละ 8.5 ตั้งแต่สิ้นปี 2551 ซึ่งก็ไม่ได้เกิดปัญหาแต่อย่างใด โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการประกาศใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนเพื่อควบคุมธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ (BASEL2) โดยยืนยันว่า ธปท.ยังคงเดินหน้าให้ธนาคารพาณิชย์ใช้บาเซิล 2 เต็มรูปแบบภายในปลายปีนี้ เพื่อเป็นไปตามหลักสากล แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่า การใช้บาเซิล 2 เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง ธปท.ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง แต่กลับเป็นผลดีที่จะเอื้อประโยชน์ช่วยสนับสนุนการขยายสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามเกณฑ์บาเซิล 2 ถือเป็นการลดน้ำหนักความเสี่ยงที่ใช้คำนวณเงินกองทุนสำหรับสินเชื่อรายย่อยจาก 100% เป็น 75% ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย จาก 50% เป็น 35%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกณฑ์บาเซิล 2 จะเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น แต่หากธนาคารพาณิชย์ ยังไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้น จะต้องปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
นายเกริก กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้เริ่มต้นการใช้เกณฑ์บาเซิล 2 ขั้นที่ 1 คือการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำร้อยละ 8.5 ตั้งแต่สิ้นปี 2551 ซึ่งก็ไม่ได้เกิดปัญหาแต่อย่างใด โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งระบบอยู่ที่ ร้อยละ 15.7 ประกอบกับได้มีการเตรียมรองรับการใช้บาเซิล 2 มาแล้วระยะหนึ่ง จึงไม่มีผลทำให้สถาบันการเงินมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อน้อยลง
ส่วนที่มีกระแสต้านการใช้บาเซิล 2 นั้น คิดว่า เป็นเรื่องปกติ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีความรู้สึกต่อต้านเป็นเรื่องธรรมดา แต่การใช้บาเซิล 2 จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบสถาบันการเงินของไทย และทำให้เกณฑ์การปฏิบัติเป็นไปตามหลักสากล
“ธปท.ยืนยันไม่ได้ตามก้นฝรั่ง โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ เพราะการใช้บาเซิล 2 ไม่ได้ทำให้เกิดการติดขัดในการปล่อยสินเชื่อ และขณะนี้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนใช้หลักเกณฑ์บาเซิล 2 เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงประเทศไทย ที่ยังไม่ได้ใช้เต็มรูปแบบ” นายเกริก กล่าว