xs
xsm
sm
md
lg

ระดมงบ2.4หมื่นล.กู้ท่องเที่ยว ชงข้อมูลเสนอครม.ใหม่ทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา คาดรัฐบาลต้องใช้เงินเยียวยาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  กู้วิกฤติและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 24,300 ล้านบาท ล่าสุด สั่ง ททท. และ ภาคเอกชน เตรียม ข้อมูลความเดือนร้อน และ ความจำเป็นต้องของบสนับสนุนเร่งด่วน เสนอ ค.ร.ม.ชุดใหม่ทันที

นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์  ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวเร่งดำเนินการใน 3 ขั้นตอนหลัก เพื่อให้สถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด  ซึ่งเป็นผลหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการเยียวยานักท่องเที่ยวที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทย อันเนื่องมาจากการปิดสนามบิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีรักษาการได้อนุมัติในหลักการ ให้ใช้จากงบกลางปีฉุกเฉินได้                
              
ทั้งนี้จากมาตรการดังกล่าว เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่าจะต้องใช้วงเงินไม่น้อยกว่า 2,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 2,200 ล้านบาท  สำหรับช่วยเหลือค่าที่พักและอาหารให้แก่นักท่องเที่ยวตามจริง หรือไม่เกินคนละ 2,000 บาท ต่อคนต่อวัน นับตั้งแต่คืนวันที่ 25 พ.ย.51 – 9 ธ.ค.51 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ มีประมาณ 350,000 คน ใช้ห้องพักรงแรมราว 120,000-150,000 ห้อง โดยให้ผู้ประกอบการโรงแรม ทำเรื่องเบิกจ่ายผ่านมายังสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) , อีก 100 ล้านบาท สำหรับช่วยคนไทยที่เดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์ไปต่างประเทศแล้วไม่สามารถเดินทางกลับมาได้  โดยให้บริษัทนำเที่ยว ทำเรื่องเบิก ผ่านทางสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เข้ามาที่กระทรวงฯ  และ อีก 100 ล้านบาท จะเป็นในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดูแล ช่วยเหลือ คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้ผ่านบริษัทนำเที่ยว

“ในมาตรการข้อแรกนี้ เพื่อเป็นการดูแลความเดือดร้อนได้ทั่วถึง จึงได้ตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่ตกค้างในประเทศ โดยมีนายอเนก ศรีชีวะชาติ  ที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) และ นายกสมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น เป็นประธาน รวบรวมปัญหาและ ค่าใช้จ่าย ที่ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการข้อแรก เช่น ผู้ประกอบการเกสต์เฮ้าส์ เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรม ,ค่าพาหนะที่นำนักท่องเที่ยวมาส่งที่สนามบิน ,ค่าใช้จ่ายกรณีนักท่องเที่ยวคนไทยที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทยในวันแรกของการปิดสนามบิน เป็นต้น  แล้วนำมาเสนอ คณะกรรมการเยียวยาเร่งด่วนอีกครั้งหนึ่ง โดยเร็ว”

*** 2 หมื่นล.ช่วยSMEภาคท่องเที่ยว***  
  
2.มาตรการกู้วิกฤตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว ได้เห็นชอบไว้ในเบื้องต้น ที่จะนำเงินมาปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สปา ตลอดจนสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวอื่นๆ  เป็นต้น  กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ทำเรื่องเสนอขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ผ่าน เอสเอ็มอี แบงก์   ซึ่งจะเดินหน้า หารือกับเอสเอ็มอี แบงก์ กำหนดหลักเกณฑ์ และ เงื่อนไขการปล่อยกู้ เบื้องต้น จะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนชำระนาน 4 ปี

*** ททท.ขอ 1.9 พันลบ.โหมตลาด***

3.มาตรการด้านการตลาด เบื้องต้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอของบพิเศษฉุกเฉิน วงเงิน 1,900 ล้านบาท  สำหรับการกระตุ้นตลาดและสร้างความมั่นใจด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับคืนมา  

ในมาตรการด้านการตลาดนี้ นางจุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า  วงเงินที่ ททท. ขอเพิ่มเติมดังกล่าว แบ่งเป็น  สำหรับประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ 400 ล้านบาท  ,โฆษณาในต่างประเทศ 500 ล้านบาท , จัดแฟมทริป เชิญสื่อและบริษัททัวร์จากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทย 200 ล้านบาท ,ทำโปรโมชั่นผ่านระบบออนไลน์ 100 ล้านบาท ,ใช้ประชาสัมพันธ์และโฆษณาภายในประเทศ 300 ล้านบาท, งบจัดกิจกรรมพิเศษในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยว และ ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 200 ล้านบาท และ ร่วมกับพันธมิตร เช่น บริษัทนำเที่ยว สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร จัดกิจกรรมกระตุ้นไทยเที่ยวไทย 200 ล้านบาท   ซึ่ง ททท. จะนัดภาคเอกชน หารือ วางแผนการตลาดฉุกเฉินนี้ในวันที่ 8 ธ.ค.51

***เตรียมข้อมูลชงค.ร.ม.ใหม่

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวว่า จากมาตรการ 3 ข้อ ดังกล่าว ให้แต่ละหน่วยงาน แบ่งการทำงานตามความรับผิดชอบ พร้อมกันนี้ ให้จัดทำเป็นเอกสารข้อมูล ความเดือดร้อน และ ความจำเป็นที่จะใช้เงินในการช่วยเหลือ และ เยียวยา ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยกระทรวงการท่องเที่ยว จะนำตัวแทนภาคเอกชน และ ททท. เข้าไปชี้แจงต่อกรมบัญชีกลางอีกครั้ง ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงิน ซึ่งในกรณีเงินกู้ เอสเอ็มอี 20,000 ล้านบาท และ งบการตลาดของ ททท. 1,900 ล้านบาท  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม เพราะเชื่อว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลและ คณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย จะเป็นเรื่องลำดับต้นๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ค.ร.ม. ซึ่งไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น