xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเขย่าตำนานแบรนด์ "เจพีมอร์แกน-เป๊ปซี่โค-จีเอ็ม" สะท้อนภาพแท้จริง ศก.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความเชื่อมั่น ศก.สหรัฐฯ เริ่มสั่นคลอนหนักอีกครั้ง หลังเจพีมอร์แกนฯเผยกำไรสุทธิ Q3 ลดลงถึง 84% สะท้อนปัญหาจำนวนมากที่ยังสุมตัวอยู่ ขณะที่ "เป๊ปซี่" ยอดขายหล่นวูบ เตรียมลอยแพพนักงาน 3,300 คน และปิดโรงงาน 6 แห่ง ด้านค่ายรถยนต์ยักษ์ 3 แห่งของสหรัฐฯ กำลังโคม่าหนัก แนะจับตาใครจะไปก่อนกัน

วันนี้ ( 16 ต.ค.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เจพีมอร์แกน เชสแอนด์โค เปิดเผยว่า ไตรมาส 3/2551 มีกำไรสุทธิลดลง 84% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมีการตั้งสำรองหนี้สูญในกลุ่มที่อาศัยและหนี้อื่นๆ

โดยในไตรมาสดังกล่าว เจพีมอร์แกนฯ มีกำไรสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 527 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 11 เซนต์ จาก 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 97 เซนต์ ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของวิเคราะห์โดยธอมสันรอยเตอร์ส คาดว่าเจพีมอร์แกนจะขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 21 เซนต์

ส่วนรายได้ลดลงเกือบ 20% มาอยู่ที่ 14.74 พันล้านดอลลาร์ จาก 18.40 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าประมาณการของนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ที่ 16.04 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การบันทึกผลขาดทุนจากการลงทุนในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และการตั้งสำรองความเสี่ยงของธุรกิจวาณิชธนกิจของเจพีมอร์แกน อยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์ และการตั้งสำรองการขาดทุนจากธุรกิจสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 15.3 พันล้านดอลลาร์

**ยักษ์น้ำอัดลม "เป๊ปซี่" โละพนง. 3.3 พันคน ปิดรวด 6 รง.

โดยวานนี้ เป๊ปซี่โค อิงค์ บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ผลิตขนมคบเคี้ยวรายใหญ่ที่สุดของโลก เปิดเผยว่าจะปรับลดพนักงาน 3,300 ตำแหน่ง หลังจากที่ผลกำไรของบริษัทร่วงลงมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

เป๊ปซี่โค ยังได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยกำไรตลอดปี ไม่รวมต้นทุนบางรายการคาดว่าจะอยู่ที่ 3.67 - 3.68 ดอลลาร์ต่อหุ้น ลดลงจากระดับ 3.72 ดอลลาร์ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ก.ค.

กำไรสุทธิของบริษัทลดลงแตะ 1.58 พันล้านดอลลาร์ หรือหุ้นละ 99 เซนต์ เทียบกับ 1.74 พันล้านดอลลาร์ หรือหุ้นละ 1.06 ดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยอดขายน้ำอัดลมทั่วโลกของเป๊ปซี่โค กระโดดขึ้นแตะ 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ยอดขายเครื่องดื่มที่ลดลงในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปีของเป๊ปซี่โค ส่งผลกระทบต่อกำไร โดยผู้บริโภคได้ลดการซื้อน้ำอัดลม เพื่อประหยัดเงินสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น

ทั้งนี้ การปรับลดพนังานเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของบริษัทที่จะลดค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษีจำนวน 1.2 พันล้านภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะปิดโรงงานถึง 6 แห่งด้วย

**ค่ายรถยนต์ยักษ์ของสหรัฐฯ กำลังโคม่าหนัก

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวชื่อดังในสหรัฐฯ ยอมรับว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของสหรัฐ 3 ราย ได้แก่ เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ฟอร์ด มอเตอร์ และไครสเลอร์ กำลังตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีกระแสข่าวที่แพร่สะพัดออกมาหลายระลอก โดยพบว่า ค่ายจีเอ็ม อยู่ระหว่างการเจรจากับเซอร์เบอรัส แคปิตอล แมเนจเมนต์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไครสเลอร์ ซึ่งหวังผลว่าจะนำไปสู่การควบรวมกิจการ หรืออย่างน้อยเป็นพันธมิตรทางกลยุทธ์ในด้านใดด้านหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่า การเจรจาระหว่างจีเอ็มและไครสเลอร์มีขึ้น หลังจากที่จีเอ็มพยายามเจรจากับฟอร์ดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เจรจาครั้งนั้นไร้ข้อตกลง

กรณีดังกล่าว นายเกรก มาร์ติน โฆษกจีเอ็ม ก็ไม่ได้ปฏิเสธ พร้อมชี้แจงว่า ในช่วงเวลานี้ ตลาดยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ทุกกรณี โดยเฉพาะประเด็นการเจรจาเกี่ยวกับแนวทางในการขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ทำเนียบขาว และเฟด กลับปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในกรณีที่เกิดวิกฤตขึ้นกับบริษัทรถยนต์แห่งนี้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ฟอร์ด มอเตอร์ กำลังพิจารณาขายหุ้นทั้งหมด 34% ที่ถืออยู่ในมาสด้า มอเตอร์ ของญี่ปุ่น เพื่อระดมเงินทุนเงินสดมาเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ออกมาเตือนว่า ทรัพยากรการเงินของฟอร์ด และจีเอ็ม อาจร่อยหรอลงภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของรถยนต์ทั้งค่ายดิ่งฮวบลง แต่ทั้ง 3 ยังยืนกรานปฏิเสธไม่มีแผนยื่นล้มละลาย มาตรา 11 อย่างแน่นอน

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ค่ายรถยนต์อเมริกันอาจอยู่ในกลุ่มเดียวกับสถาบันการเงิน คือ ใหญ่เกินไปที่รัฐบาลจะปล่อยให้ล้ม โดยผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 3 ราย (กลุ่มบิ๊กทรี) นอกจากเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมอเมริกาแล้ว ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอเมริกาอย่างผูกพันลึกซึ้งด้วย อุตสาหกรรมนี้ มีการจ้างงานโดยตรง ประมาณ 5 ล้านคน ยังไม่นับการจ้างงานในบริษัทดีลเลอร์ ซัพพลายเออร์ และบริษัทให้บริการหลังการขาย

ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ให้สวัสดิการด้านสุขภาพแก่ชาวอเมริกันจำนวนว่า 2 ล้านคน และจ่ายเงินสมทบกองทุนบำนาญแก่พนักงานเกษียณ 800,000 คน โดยเฉพาะค่ายจีเอ็ม ซึ่งมีสัดส่วนในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของสหรัฐอย่างมาก เคยครองส่วนแบ่งข้างมากในตลาดอเมริกาถึง 46% ในปี 2523 แต่ส่วนแบ่งตลาดตกฮวบลงเหลือ 24% ในปี 2551

ดังนี้น การล้มของค่ายจีเอ็ม จึงกระทบต่อภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในหลายมิติ โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบประกันสุขภาพ ซึ่งจีเอ็มจัดหาเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นพนักงานที่ยังปฏิบัติการอยู่ 140,000 คน และที่เหลือเป็นพนักงานเกษียณ คู่สมรส และอื่นๆ

นอกจากนี้ จีเอ็มมีโรงงาน 30 แห่งในสหรัฐ มีมูลค่าการจัดซื้อวัตถุดิบ และชิ้นส่วนประกอบ 9.4 หมื่นล้านดอลลาร์ มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับซัพพลายเออร์ 3,200 ราย ซึ่งผลิตชิ้นส่วนป้อนให้บริษัทมากกว่า 160,000 ชิ้น

นักวิเคราะห์ฯ ยังเชื่อว่าวิกฤตสินเชื่อที่ยังปะทุอยู่ในขณะนี้ จะกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศไปตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ และภาวะตลาดในปีหน้าอาจเลวร้ายลงกว่าเดิม พร้อมเตือนว่าภาวะตกต่ำของตลาดรถยนต์อาจคุกคามต่อความอยู่รอดของดีลเลอร์ โดยคาดว่าดีลเลอร์อาจปิดตัวลง 700 แห่งทั่วประเทศ หลังจากที่ปิดกิจการไปแล้ว 70 แห่งในแคลิฟอร์เนียปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น