ธนาคารกลางยุโรป ประกาศใช้มาตรการฉุกเฉิน เพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินยุโรป หลังธนาคารชื่อดังหลายแห่งของอังกฤษ ตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย โดยก่อนหน้านี้ "IMF" ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า ธนาคารยุโรปต่างๆ ควรเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
วันนี้ (29 ก.ย.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า อีซีบีเตรียมประกาศใช้มาตรการรีไฟแนนซ์แบบเงื่อนไขพิเศษในวันนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการธนาคารในยุโรป หลังธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งในอังกฤษ ประสบปัญหาการล้มละลาย และมีแนวโน้มที่จะลุกลามไปยังอีกหลายแห่ง
อีซีบี ยังระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะดำเนินกาผ่านขั้นตอนการประมูลวงเงินกู้ตามมาตรฐาน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ จนสิ้นสุด ณ วันที่ 7 พ.ย.นี้
โดยวานนี้ ธนาคารฟอร์ติส ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทการเงินของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม,เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) เข้าสู่กระบวนการโอนกิจการเป็นของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) หลังการเจรจาฉุกเฉินกับนายฌอง-คล็อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพื่อป้องกันผลกระทบทางการเงินแบบสหรัฐ ซึ่งกำลังรุมเร้าฟอร์ติสซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำ 20 แห่งของยุโรป
ทั้งนี้ รัฐบาลเบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กตกลงที่จะอัดฉีดเม็ดเงิน 1.12 หมื่นล้านยูโร (1.64 หมื่นล้านดอลลาร์) ให้กับฟอร์ติสซึ่งเป็นบริษัทด้านธนาคารและประกัน ซึ่งจะขายธุรกิจบางส่วนของธนาคารเอบีเอ็น แอมโรของเนเธอร์แลนด์ซึ่งได้ซื้อมาเมื่อปีที่แล้ว
นายอีฟส์ เลอร์แตร์ม นายกรัฐมนตรีเบลเยียมประกาศแผนกอบกู้ดังกล่าวในการแถลงข่าวหลังช่วงสุดสัปดาห์ในวิกฤตการณ์ด้านธนาคารครั้งใหญ่ครั้งแรกที่ส่งผลกระทบต่อเขตยูโรโซนในระยะ 13 เดือน ของความปั่นป่วนทางการเงินทั่วโลกที่เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐ
ด้านแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการเจรจาระบุว่า รัฐบาลกลุ่มประเทศเบเนลักซ์เลือกให้การช่วยเหลือบางส่วนหลังความเชื่อมั่นของนักลงทุนทรุดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้เสนอซื้อกิจการ 2 รายจากภาคเอกชนเสนอราคาที่ต่ำเกินไป
**ธนาคารกลางทั่วโลกหวั่นเกิด โดมิโน่ ไคลซิล
นายไซมอน จอห์นสัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวยอมรับว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ยังมีช่องว่างที่จะแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่นักลงทุนเชื่อว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางจะลงมือเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน เทรดเดอร์ตลาดการเงิน ต่างมองว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะลดดอกเบี้ยลงในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่บลูมเบิร์ก นิวส์ สำรวจความคิดเห็น โดยคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะลดดอกเบี้ยลงในช่วงต้นปีหน้า หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 4.25% ในการประชุมสัปดาห์นี้
**เทรดเดอร์พร้อมใจอัดฉีดสภาพคล่องในระบบ
นายฮัวคิม เฟลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า ผู้บริหารระดับนโยบายอาจจะต้องร่วมมือกันในเร็วๆ นี้ เพื่อลดดอกเบี้ย โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางต่างประเทศหลายแห่ง ก็ได้จับมือกันกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อทุ่มเงินดอลลาร์เข้าตลาดเงินแล้ว
ล่าสุด เทรดเดอร์ในตลาดปริวรรตเงินตราและผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ เริ่มมีกระแสคาดการณ์ว่า รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลก เตรียมจะร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์
ความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตราทวีความรุนแรงหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ จี-7 ยื่นมือเข้าแทรกแซงการซื้อขายในตลาด โดยเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 2.5% เมื่อเทียบกับกลไกการแลกเปลี่ยนสกุลเงินพื้นฐานขณะที่ความผันผวนในตลาดวอลล์สตรีททวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่เงินดอลลาร์ร่วงลงหนักที่สุดในหนึ่งวันเมื่อเทียบกับเงินยูโรนับตั้งแต่ปี 2544
ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 9% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนต่างที่เหวี่ยงตัวแรงมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สภานิติบัญญัติเตรียมที่จะลงมติต่อแผนการช่วยเหลือภาคธุรกิจธนาคารของนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า 23% นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
**ไอเอ็มเอฟ เตือนวิกฤตแบงก์ยุโรป
ก่อนหน้านี้ นายโมมินิค สเตราส์ คาห์น หัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของเยอรมนี โดยระบุว่า ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในยุโรป ควรเตรียมตัวรับสถานการณ์เกี่ยวกับวิกฤตเงินที่เลวร้ายที่สุด แม้ว่าวิกฤติสถาบันการเงินที่จะประสบ อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับสถาบันการเงินในสหรัฐก็ตาม และยุโรปก็ควรจดจำวิกฤตการเงินที่สหรัฐประสบด้วย
ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ก็ยินดีกับความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการใช้แผนช่วยเหลือสถาบันการเงิน 700 พันล้านดอลลาร์ พร้อมระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะหาทางออกสำหรับวิกฤตดังกล่าวซึ่งเขามองว่าสถาบันการเงินและธนาคารต่างๆ ในสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปด้านโครงสร้างใหม่การเงินซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน