xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก ปตท.คาดเฮดจ์ฟันด์ป่วนตลาดน้ำมันโลก แนะจับตาราคาดีเซล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ปตท.ระบุ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงนี้ เกิดจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ กลับคืนตลาดเข้ามาเก็งกำไร เพื่อหวังเทขายช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต คาดน้ำมันดีเซลโดนป่วนหนัก

วันนี้ (23 ก.ย.) นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง คืนวานนี้ เกิดจากการเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่กลับเข้ามาซื้อ-ขาย น้ำมันล่วงหน้าอีกครั้ง หลังมีความมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น จากการที่รัฐบาลของสหรัฐฯ เข้าไปช่วยเหลือกิจการสถาบันการเงินอย่างเต็มที่

นายชัยวัฒน์ เชื่อว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นอีกในอนาคต จึงมีการเก็งกำไรและเร่งเข้ามาซื้อ-ขายน้ำมันมากขึ้น เพื่อรอเทขายในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

โดยเมื่อคืนนี้ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน ต.ค.ซึ่งครบกำหนดส่งมอบแล้ว ปิดพุ่งขึ้น 16.37 ดอลลาร์ แตะที่ 120.92 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากความไม่มั่นใจในมาตรการแก้ป้ญหาภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ที่ได้ฉุดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯร่วงลงอย่งหนัก ส่งผลให้นักลงทุนแห่เข้ามาซื้อสัญญาน้ำมันดิบ

นอกจากนี้ การที่สัญญาน้ำมันดิบเดือน ต.ค.ครบกำหนดส่งมอบก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กระตุ้นนักลงทุนให้เข้ามาซื้อขายในตลาดอย่างคึกคัก โดยในระหว่างวันราคาพุ่งขึ้นแรงถึง 25.45 ดอลลาร์ แตะระดับ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ก่อนจะอ่อนตัวลงในช่วงท้าย

ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน พ.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 6.62 ดอลลาร์ มาแตะที่ 109.37 ดอลลาร์/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 07.34 น.วันนี้ตามเวลาในประเทศไทย สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือน พ.ย.ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดสิงคโปร์ ปรับลดลง 22 เซนต์ มาอยู่ที่ระดับ 109.15 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่ดิ่งลงอย่างหนัก 92 เซนต์ ในช่วงเปิดตลาดจากแรงเทขายทำกำไรหลังจากราคาพุ่งทะยานกว่า 6 ดอลลาร์สหรัฐฯในการซื้อขายก่อนหน้านี้

การทะยานขึ้นของสัญญาน้ำมันล่วงหน้าทั้ง 2 เดือน เป็นผลจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์ และแนวโน้มที่ดีขึ้นของอุปสงค์ด้านพลังงานในสหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อคลายวิกฤตภาคสินเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น