xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจคนไทยหน่ายการเมือง 2 ปีกลุ่มไม่กระตือรือร้นพุ่งเป็น 18%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มายด์แชร์ เผยผลสำรวจ 3 มิติ ชี้ พิษเศรษฐกิจ การเมือง กลุ่มประชากรหมดอาลัยตายอยาก ไม่มีความกระตือรือร้น 2 ปี พุ่งพรวดจาก จาก 16% เป็น 18% กลายเป็นกลุ่มขนาดใหญ่สุด พร้อมชี้เทรนด์การใช้สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ยังไม่เสื่อมมนต์ขลัง ระบุ ยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอยู่ สินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรงแทนที่สินค้าใช้ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ ด้านผู้บริโภคภูธรยังมีรอยัลตีสูง

นางสาวปัทมวรรณ สถาพร ผู้อำนวยการแผนกวิจัยผู้บริโภคและธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์ เปิดเผยงานวิจัย 3 มิติมุมมอง ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,200 คน อายุระหว่าง 14-65 ปี พบว่า ข้อมูลเชิงลึกในการทำความเข้าใจถึงทัศนคติของผู้บริโภค ด้วยฐานข้อมูลความคิดเห็นเชิงจิตวิทยากว่า 200 ตัวอย่าง เครื่องมือวิจัย 3D ได้จำแนกกลุ่มทัศนคติและพฤติกกรรมออกเป็น 8 กลุ่ม พบว่า กลุ่มผู้ที่ไม่มีความกระตือรือร้น (Disadvantages & Indifferent) ในสังคม เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดมีถึง 18% ของจำนวนประชากร เมื่อเทียบกับช่วงปี 2549 กลุ่มดังกล่าวมีส่วนเพียง 16% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่กลุ่มพฤติกรรมอื่นๆ ได้แก่ ส่วนกลุ่มในเมืองมีแนวคิดแบบเดิม 11% กลุ่มวัยเริ่มทำงาน 11% กลุ่มต่างจังหวัด 10% กลุ่มเบื่อ 14% กลุ่มมีการศึกษา และกำลังซื้อ 12% กลุ่มวัยรุ่นไม่มีรายได้แต่ต้องการมีรายได้ 13% และกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชอบชอปปิ้ง 11%

ส่วนการวัดผลในเชิงความสัมพันธ์ของผู้บริโภคกับตราสินค้า การจำแนกหมวดสินค้าจะครอบคลุมจากสินค้าอุปโภคบริโภคไปถึงบริการทางการเงิน ความภักดีในตราสินค้าก็จะแตกต่างกันสำหรับกลุ่มที่ให้ความสำคัญในการเลือกตราผลิตภัณฑ์ และกลุ่มที่ไม่ค่อยให้ความใส่ใจในการเลือกผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วผลจากงานวิจัย 3D แสดงให้เห็นว่า 67% ของผู้บริโภคโดยมากมีแนวโน้มที่จะซื้อตราสินค้าเดิมซ้ำๆ กัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัด เปรียบเทียบกับคนกรุงเทพที่มีความหลากหลายกว่าในการเลือกตราสินค้า

ขณะที่การศึกษาพฤติกรรมการรับสื่อของกลุ่มตัวอย่าง นอกเหนือจากสื่อที่ได้รับความนิยมแล้ว 3D ยังวิเคราะห์จุดเชื่อมโยงในการสื่อสารระหว่างที่ผู้บริโภครับสื่อ ตั้งแต่สื่อหลักไปจนถึงการพูดกันปากต่อปาก การแจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง แผ่นพับใบปลิว ข่าวประชาสัมพันธ์ พนักงานขายและช่องการสื่อสารทางใหม่ๆ เช่น SMS พบว่า กว่าครึ่งของผู้บริโภคตัวอย่างเห็นโฆษณานอกบ้านเป็นแหล่งข้อมูล อันดับต้นๆ ของโฆษณานอกบ้านที่ได้รับการมองว่าเป็นสื่อที่มีความสร้างสรรค์ คือ 1) ไตรวิชัน 2) เลเซอร์บนตึกและอาคารสำนักงาน 3) จอ LCD และ วิดีโอวอลล์ที่เป็นสื่อนอกบ้าน

ผู้บริโภคไทยเลือกที่จะใช้จ่ายกับสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม (57%) มากกว่าสินค้าที่ใช้ดารานักแสดงในงานโฆษณา (36%) ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับตราสินค้า มีความภักดีต่อตราสินค้าพอสมควร และค่อนข้างจะยอมรับตราสินค้าจากงานโฆษณา โดยกว่า 60% ของผู้บริโภค กล่าวว่า งานโฆษณาช่วยให้ข้อมูลของสินค้าที่ตนต้องการรู้จัก
กำลังโหลดความคิดเห็น