xs
xsm
sm
md
lg

ค่าครองชีพพุ่ง แนะ ปชช.รัดเข็มขัด ป้องกันครัวเรือนก่อหนี้ท่วมหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้า เผยหนี้สินภาคครัวเรือนในปัจจุบันเพิ่มขึ้น 3แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 10 ปี ระบุ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมารอบคอบในการใช้จ่าย และเก็บออมมากขึ้น

วันนี้ (21 ส.ค.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน ปี 51 โดยระบุว่า คนไทยก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสถิติเดือน ส.ค. 51 คนไทยมีหนี้สินต่อครัวเรือนถึง 135,166 บาท เพิ่มขึ้น 15.84% จากปีก่อนที่มี 116,681 บาท ทำให้ขนาดหนี้สินครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้น 16.55% มีมูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มี 2.1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี

นอกจากนี้ พบว่าคนไทยมีสัดส่วนการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นที่ 45.7% สูงกว่าปีก่อนที่มีเพียง 21.8% โดยสาเหตุจากมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เพราะค่าครองชีพเพิ่ม 75.3% ดอกเบี้ยสูง 17.2% น้ำมันแพง 4.6% ทำให้คนส่วนมากต้องหาทางออกด้วยการกู้เงินแทน โดยเฉพาะการพึ่งเงินนอกระบบที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 35% สูงกว่าปี 50 ที่มี 32.2% และปี 49 ที่ 26.1% สวนทางกับหนี้ในระบบที่ลดลงที่ปี 49 มี 73.9% เหลือ 67.8% ในปี 50 และปีนี้ 65% ตามลำดับ โดยวัตถุประสงค์การกู้ยืม เพื่อใช้จ่ายประจำวัน 36.81% ยานพาหนะ 26.89% ที่อยู่อาศัย 7.71% ค่ารักษาพยาบาล 14.93% และลงทุน 13.81%

ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชน 56.50% ระบุว่ามีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ มีเพียง 10.79% เท่านั้นที่มีรายได้สูงกว่าหนี้ ขณะที่รายได้และหนี้เพิ่มเท่ากันที่ 32.71% ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ และอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 10,000-20,000 บาทที่ยอมรับว่ามีปัญหาการผ่อนส่งเกิน 80% ขณะที่รายได้ 20,001-50,000 บาท มีปัญหาชำระหนี้ 59-69% รายได้ 50,001-90,000 บาท มีปัญหาชำระหนี้ 56.70% และสูงกว่า 90,001 บาท มีปัญหาชำระหนี้ 40.10%

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหารุนแรง จนกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อเทียบกับจีดีพีแล้ว มีสัดส่วน 25.97% เป็นระดับที่ภาครัฐบริหารได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือกลายเป็นปัญหาระดับบุคคล โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ ที่จะลุกลามต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคต และทำให้บรรยากาศการบริโภคภายในซบเซาต่อไป แม้ตัวเลขจีดีพีปีนี้จะโต 5.5% แต่ไม่ช่วยให้คนระดับล่างมีรายได้เพิ่ม เพราะรายได้หลักจะตกอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น