ผู้ค้าทุกรายเตรียมปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด โดยกลุ่มเบนซินลดลง 60 สต./ลิตร ส่วนดีเซลปรับลง 80 สต./ลิตร มีผล 5.00 น. 12 ส.ค.นี้ ส่งผลให้ราคาเบนซิน 91 อยู่ที่ลิตรละ 36.89 บาท, แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 29.39 บาท, แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 28.59 บาท และดีเซลลิตรละ 34.24 บาท
วันนี้ (11 ส.ค.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ค้าน้ำมันทุกรายประกาศเตรียมประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศลงทุกชนิด โดยเบนซินปรับลดลงลิตรละ 60 สตางค์ ส่วนดีเซลปรับลดลงลิตรละ 80 สตางค์ มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น.วันอังคารที่ 12 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันตามสถานีบริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลวันพรุ่งนี้ เป็นดังนี้ เบนซิน 95 ลิตรละ 38.29 บาท, เบนซิน 91 ลิตรละ 36.89 บาท, แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 29.39 บาท, แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 28.59 บาท และดีเซลลิตรละ 34.24 บาท
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า การปรับลดราคาเป็นผลจากราคาตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปิดตลาดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรับลดลง 4.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 115.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเทียบกับสกุลยูโร และเหตุการณ์ระเบิดที่ท่อขนส่งน้ำมันดิบในตุรกี กำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้คลี่คลายลง แต่ตลาดกำลังติดตามความขัดแย้งระหว่างจอร์เจีย และรัสเซีย ว่า จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันหรือไม่ โดยหากราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่อง ผู้ค้าน้ำมันก็คงพร้อมที่จะปรับลดราคาเช่นกัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนกันยายน ปรับลดลง 4.53 ดอลลาร์ ปิดที่ 113.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลง 1.22 ดอลลาร์ ปิดที่ 114.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินที่ตลาดสิงคโปร์ปรับลดลง 0.33 ดอลลาร์ ปิดที่ 116.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลง 2.36 ดอลลาร์ ปิดที่ 133.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากไม่มีแรงซื้อน้ำมันจากจีนหลังจากเข้าสู่ช่วงกีฬาโอลิมปิก เพราะจีนมีนโยบายปิดโรงงานบางแห่งชั่วคราว และลดการใช้ยานพาหนะเพื่อลดมลพิษในอากาศลง
ด้าน นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรทบทวนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ได้ประกาศใช้วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และการสนับสนุนใช้น้ำมันถูกกว่าความเป็นจริงเป็นการส่งเสริมไม่ให้ประชาชนประหยัด รวมทั้งภาษีสรรพสามิตที่ลดไปถือว่าค่อนข้างมากเกินไป ดังนั้นรัฐควรพิจารณาถึงรายได้ที่หายไปกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะหากไปส่งเสริมให้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร