xs
xsm
sm
md
lg

ถกด่วนทวงภาษี 546 ล้าน สรรพากรลั่น 30 วันรู้ผล!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศานิต ร่างน้อย” เร่งคณะกรรมการสอบทางแพ่งทวงภาษี 546 ล้านบาท จากพี่ชายคุณหญิงอ้อ พร้อมจับมือกรมบัญชีกลางหาผู้รับผิดทางละเมิดพร้อมขอสำนวนคดีจากศาลประกอบการพิจารณา เรียกประชุมด่วนวันนี้ กำหนดแนวทางการทำงานให้เร็วยิ่งขึ้น ขีดเส้น 1 เดือนได้ข้อสรุปผลการสอบสวนทั้งหมดได้ ยอมรับเรียกเก็บโดยตรงตามอำนาจกรมฯ คงไม่ได้แต่จะใช้การฟ้องร้องทางแพ่งทวงคืนเงินแผ่นดินให้ได้

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีได้มีมติว่ากรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีจาก นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กรมสรรพากรจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณีทำให้กรมสรรพากรเสียหายไม่ได้รับเม็ดเงินภาษี จำนวน 546.12 ล้านบาท จาก นายบรรณพจน์ ขึ้นมาทันที โดยไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีผู้บริหารของกรมและฝ่ายกฎหมายทำหน้าที่ในการหาแนวทางนำเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนมาให้ได้

“ตอนนี้ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางละเมิด เพื่อหาทางทวงเงินภาษีที่ควรเป็นของแผ่นดินกลับมา เพราะเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้ว โดยขั้นตอนการทำงานต้องร่วมกับกรมบัญชีกลางด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบความคืนบหน้าของคณะทำงานก็ได้มีการนำสำนวนมาดูจำนวนมากแล้ว และก็ยิ่งมีความหวังมากขึ้นเมื่อมีคำสั่งศาลออกมา โดยกรมก็จะพยายามทำหน้าที่ของกรมให้ดีที่สุด” นายศานิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายจำนวนมากทั้งประมวลรัษฎากร และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 5 คนที่ได้ถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบสำนวนมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

***ชี้ศาลพิพากษาเร่งข้อสรุปได้เร็วขึ้น

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่า นายศานิต ได้แต่งตั้ง นางเสาวนีย์ กมลบุตร ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากรให้เป็นประธานกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณีทำให้กรมสรรพากรเสียหายไม่ได้รับเม็ดเงินภาษี จำนวน 546.12 ล้านบาท จาก นายบรรณพจน์ ในการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ โดยได้เริ่มกระบวนการทำงานมาประมาณ 2 เดือนแล้ว และคาดว่าเมื่อมีคำพิพากษาในคดีออกมาแล้วก็จะช่วยให้การทำงานในการตรวจสอบมีความคืบหน้าเร็วขึ้น

“ที่ผ่านมา เราใช้สำนวนตรวจสอบจากทางคดีทางวินัย ซึ่งทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำไว้เป็นหลัก แต่ในแง่สำนวนทางอาญาที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให่เกิดความเสียหายต่รัฐ (คตส.) ดำเนินการนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ศาล ซึ่ง ทางกรมสรรพากรก็ได้ติดต่อขอสำนวนไปยังศาลแล้วเพื่อมาใช้ประกอบในการทำงาน”

***มอบอำนาจสอบสวนทางแพ่ง

สำหรับอำนาจหน้าที่และขอบข่ายการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ อธิบดีได้ให้ข้อจำกัดแต่เพียงเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าจะดำเนินการทางแพ่งได้อย่างไรบ้าง ซึ่งหากตรวจสอบพบว่ามีความผิดทางแพ่งซึ่งเกิดจากการประมาทเลินเล่อ หรือจงใจ ของเจ้าพนักงานก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางซึ่งเป็นผู้ดูแลกฎหมายด้านความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่ได้มีขอบข่ายที่เกี่ยวกับเรื่องวินัยและอาญาเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปก่อนหน้าแล้ว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สรรพากรที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ประกอบด้วย นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตกรมสรรพากร นางสาวกุลฤดี แสงสายัณฑ์ อดีตนิติกร 7 ว.นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย นางสาวสุจินดา แสงชมภู นิติกร 9 ชช.และ นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและมีความผิดอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทาง ก.พ.ได้มีมติให้ออกจากราชการไปแล้ว

โดยจากการตรวจสอบสำนวนเบื้องต้นในด้านวินัยของทาง ก.พ.นั้น ยังเห็นว่าข้าราชการทั้งหมดนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปตามขั้นตอนการทำงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเรียกร้องความเสียหายจากบุคคลเหล่านั้นได้ยาก แต่ต้องดูสำนวนทางศาลประกอบด้วยว่า ชี้ให้เห็นถึงการจงใจกระทำความผิดก็จะสามารถเรียกความเสียหายทางแพ่งได้

***เชื่อ 1 เดือนได้ข้อสรุปเรียกเงินคืน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในวันนี้ (4 ส.ค.) คณะกรรมการชุดนี้จะเรียกประชุมด่วนเพื่อหาช่องทางในการเรียกเงินภาษี 546.12 ล้านบาทจากนายบรรณพจน์คืนให้ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประมวลรัษฎากรในเบื้องต้นแล้ว พบว่า การที่กรมสรรพากรจะเรียกเงินคืนโดยตรงนั้นคงเป็นไปได้ยาก แต่หากกรมสรรพากรใช่กระบวนการทางแพ่งเพื่อฟ้องร้องเงินภาษีส่วนนี้คืนอาจมีทางเป็นไปได้ซึ่งเชื่อว่าเงินที่เป็นของแผ่นดินแล้วจะไม่หายไปไหนอย่างแน่นอน

“คณะกรรมการต้องทำงานอย่างเร่งด่วนเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและอธิบดีได้กำหนดระยะเวลาให้การดำเนินการเรื่องนี้สิ้นสุดภายในเดือนสิงหาคม เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศ และเมื่อสาลมีคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้วการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้คงลุล่วงได้โดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น