“รสนา” แฉต้นเหตุสินค้าแพง-เงินเฟ้อพุ่ง เพราะรัฐบาลลูกกรอกแก้ปัญหาน้ำมันไม่ตรงจุด ทั้งที่รู้ว่ากระทบต่อต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพของประชาชน ชี้การปล่อยราคาหน้าโรงกลั่นสูง หวังเอื้อ ปตท.ฟันกำไรแสน ล.
การประชุมวุฒิสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาล วันนี้ (24 มิ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาผลกระทบราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องถึงต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าแพง ปัญหาค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับนโยบายราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการกำหนดราคาที่สูงเกินจริง ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม และเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ
“รัฐบาลใช้นโยบายราคาหน้าโรงกลั่นเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจผูกขาดเพียงบางราย ตรงนี้ทำให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้กำไรส่วนต่างถึง 40,000 ล้านบาท โดยเห็นว่า หากมีการสอบถามมติจากประชาชน ให้ ปตท.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม จะได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนมากกว่าการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ” น.ส.รสนา กล่าวและเพิ่มเติมว่า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลกลับไม่มีการพูดกันว่าการขึ้นราคานั้นชอบธรรมหรือไม่ มีความเป็นธรรมแค่ไหน เพราะหลังจาก ปตท.มีการแปรรูปไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ในแต่ละปี ปตท.มีกำไรเพิ่มมากขึ้นจากปี 2545 มีกำไรสองหมื่นสองพันล้านบาท ล่าสุด ปี 2550 มีกำไรกว่าแสนล้านบาท และในปี 2547-2548 มีการอุ้มราคาของโรงกลั่นทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย บริษัทโรงกลั่นมีกำไรมากและประชาชนก็ลำบากมาก
น.ส.รสนา ระบุชัดว่า น้ำมันเป็นต้นทุนทางตรงสำหรับภาคการผลิตอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก แต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กลับออกมาบอกว่า ราคาเป็นไปตามตลาดโลก รัฐบาลไม่สามารถจะไปทำอะไรได้ คนไทยต้องฟังแบบนี้มาตลอด ทั้งที่ราคาน้ำมันส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน
“เราต้องคิดเรื่องราคาน้ำมันกันอย่างลึกซึ้ง เพราะราคาน้ำมันมี 2 ระบบ ประกอบด้วยการคิดราคาตลาดสิงคโปร์และการคิดราคาต้นทุน ซึ่งในปี 2546 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดยมติครม.มีการใช้นโยบายเพิ่มราคาน้ำมัน 1 บาท จากราคาตลาดสิงโปร์ ตอนนี้ราคาสูงเกินจริง 4 หมื่นล้านบาท โรงกลั่นมีกำไรสูงขณะที่ประชาชนเดือดร้อนเช่นนี้มีความชอบธรรมหรือไม่ ตนเสนอให้รัฐบาลซื้อ ปตท.คืน เพราะมีกำไรมหาศาลหากรัฐบาลซื้อคืนได้ก็น่าจะดี”
น.ส.รสนา ยังระบุอีกว่า หากรัฐบาลจะทำประชามติถามประชาชนว่าอยากได้ ปตท.คืนหรือไม่ อาจจะเป็นประโยชน์กว่าทำประชามติถามว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดบอกแล้วว่า ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐ ผู้บริหาร ปตท.บอกว่า จะคืนหนึ่งแสนล้านก่อน 1 ต.ค.2544 แต่ความจริง ปตท.คืนกระทรวงการคลัง หนึ่งหมื่นห้าพันล้านเมื่อเดือน พ.ค.โดยที่กระทรวงการคลังไม่ได้ถามว่า เหลืออะไร ทั้งที่ต้องทวงถามตรวจสอบทั้งหมด
ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ยุบสภาเสียก่อนหวังว่าจะเรียกเอาทรัพย์สินคืนแล้วกำหนดราคาโรงกลั่นใหม่ เพราะรัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายหน้าโรงกลั่นได้ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เพราะ ปตท.เป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง การเอาข้าราชการมานั่งคร่อมตำแหน่งบอร์ด ปตท.และได้เงินเดือนสูง จะรักษาผลประโยชน์ได้หรือไม่โปรดพิจารณาอย่างจริงจัง