xs
xsm
sm
md
lg

“สถาบันอาหาร” ชี้ความไม่ปลอดภัยอาหาร ปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหาร จี้ทุกภาคส่วนแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยอาหาร แนะผู้ประกอบการควบคุม การผลิตอย่างถูกสุขลักษณะใช้ Food hygiene ควบคุมอย่างเข้มงวดตั้งแต่ระดับฟาร์มถึงมือผู้บริโภค ผลักดันนโยบายมุ่งเน้นให้ผู้ผลิตเห็นความสำคัญความปลอดภัยของอาหาร ระบุในแต่ละปีบริษัทต่างๆสูญเสียงบประมาณตรวจสอบวิเคราะห์อาหารมากกว่าร้อยละ 15-20 คาดการณ์ ปี 2010 ค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์และทดสอบอาหารจะเพิ่มสูงถึง 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผอ.สถาบันอาหาร เปิดเผยว่า วิกฤตด้านความปลอดภัยอาหารยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจและเร่งดำเนินนโยบายเพื่อหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกกำลังเผชิญกับสภาวะขาดแคลนวัตถุดิบผลิตอาหาร ปัญหาที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยอาหารจึงเป็นนโยบายสำคัญที่แต่ละประเทศเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นและประกาศใช้ได้ทันท่วงที โดยมุ่งหวังที่จะลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยในแต่ละปีบริษัทต่างๆ ต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์อาหารมากกว่าร้อยละ 15-20 ของงบประมาณทั้งหมดในบริษัท ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทชั้นนำในการวิเคราะห์อาหารที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก คาดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการวิเคราะห์และทดสอบอาหารจะเพิ่มสูงถึง 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียมูลค่ามหาศาล

ทั้งนี้ ความพยายามในการวิเคราะห์และตรวจสอบอาหารนำเข้าที่เกิดจากความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารนั้น ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุที่ทำให้อาหารไม่ปลอดภัยยังมิได้รับการแก้ไข ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศทำการศึกษาวิจัยหาสาเหตุที่ทำให้การผลิตอาหารทั่วโลกเกิดความไม่ปลอดภัย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายทั้งต่อผู้บริโภคและต่อประเทศชาติ ปัญหาความไม่ปลอดภัยอาหารที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเร่งด่วน ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 2. การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร 3. การปนเปื้อนของพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือ Genetically Modified Food 4. การไม่แสดงฉลากสารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้อาหาร 5.การระบาดของ BSE/TSE ในปศุสัตว์จากภูมิภาคยุโรปและอเมริกายังพบการระบาดของโรควัวบ้าอย่างต่อเนื่อง 6. การตรวจพบสารพิษจากสัตว์ทะเลในอาหาร

ปัญหาเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจเนื่องมาจากมาตรการด้านความปลอดภัยอาหารของหลายประเทศที่ให้ความสำคัญและจริงจังในเรื่องความปลอดภัยของอาหารนำเข้ามากขึ้น โดยเน้นเรื่องของการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เข้มงวด ณ ด่านนำเข้า และระบบการตรวจสอบย้อนหลังไปยังผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ขนส่งสินค้าอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงการค้าอาหาร ทำให้การกระจายอาหารจากพื้นที่หนึ่งไปอีกซีกโลกเป็นไปโดยสะดวก ส่งผลให้อาหารบางชนิดอาจปนเปื้อน หรือเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อการบริโภคสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ผลเสียจึงเกิดกับทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าที่ต้องอาศัยการตรวจสอบที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ผอ. สถาบันอาหาร กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้ว่า ควรเริ่มตั้งแต่การควบคุมการผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ ใช้ Food hygiene เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค เช่นการนำระบบมาตรฐานต่างๆ มาใช้กับสินค้านำเข้า แม้ว่ามาตรฐานส่วนใหญ่เป็นของเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินค่อนข้างสูงแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในปัจจุบันมีมาตรฐานความปลอดภัยอาหารระดับโลก(Global Food Safety Initiative: GFSI) โดยสมาชิกที่เข้าร่วมเช่น ห้างค้าปลีกต่างๆ จะยอมรับสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน BRC, Dutch HACCP, IFS (International Food standard) และ SQF (Safe Quality Food) ตามเอกสารแนวทางที่ GFSI กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการตรวจประเมินของผู้ผลิตและช่วยให้การบริหารจัดการด้านการผลิตและความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องผลักดันในระดับนโยบาย มุ่งเน้นให้ผู้ผลิตเห็นความสำคัญของความปลอดภัยของอาหาร โภชนาการรวมทั้งสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สามารถนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยในอาหารได้อย่างเหมาะสม และยอมรับการใช้มาตรฐานเดียว เช่น มาตรฐานโคเด็กซ์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในเวทีการค้าโลก ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยอาหารต้องมองภาพรวมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษตร และอุตสาหกรรมเท่านั้น การผลิตอาหารยังมีความเกี่ยวข้องและต้องคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ขนส่งและจัดจำหน่ายตลอดจนสุขอนามัยของพืชและสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบด้วย การคมนาคมขนส่งต้องมีมาตรฐาน รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งการให้ความรู้ การศึกษา และการให้สังคมมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างความเข้าใจและป้องกันผลที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น