xs
xsm
sm
md
lg

หยั่นหว่อหยุ่น รับวิกฤติต้นทุนพุ่ง เท 30 ล้านใช้ถ่านหินแทนน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หยั่นหว่อหยุ่น รับวิกฤติต้นทุนอาหารพุ่งรอบ 10ปี ปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนอาหาร เทงบกว่า30ล้านบาท ใช้ถ่านหินแทนน้ำมัน เพื่อลดต้นทุน 50% ตั้งเป้าปีนี้มีรายได้ 2,500 ล้านบาท

นายสมหวัง ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หยั่นหว่อหยุ่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสเด็กสมบูรณ์ เปิดเผยว่า จากภาวะต้นทุนการสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหาร โดยมาจากวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจากพืชผลทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาลี น้ำมันพืช น้ำตาล ถั่วเหลือ น้ำมันค่าขนส่ง รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ ต้นทุนผลิตอาหารจึงปรับขึ้นมากกว่า 30% ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ดังนั้นจึงได้ปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจใหม่ เพื่อให้สามารถอยู่รอด

ล่าสุดได้ลงทุนกว่า 30ล้านบาท เปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเพื่อให้พลังงานในกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ แทนการใช้น้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดราคาลงจึงได้ตัดสินใจหันมาใช้พลังงานชนิดอื่นเพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนมาใช้ถ่านหิน แทนน้ำมันจะสามารถช่วยลดต้นทุนลงได้ครึ่งหนึ่ง เพราะถ่านหิน 1บาร์ ลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้ 50 % หรือ 1เท่าตัว จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว โดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตลงได้ 50 %

"ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังซื้อลดลง สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นทำให้ผู้บริโภคในประเทศเริ่มรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวลง ส่งผลให้ยอดขายสินค้าช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาลดลง"

นายสมหวัง กล่าวว่า ภาวะวิกฤติต่างๆนานาทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวด้วยการหันไปขยายตลาดส่งออกที่มีศักยภาพมากขึ้น เพราะอำนาจซื้อของผู้บริโภคในต่างประเทศสูงกว่าในประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยกับตลาดในประเทศ เพราะในต่างประเทศประสบกับภาวะการขาดแคลนอาหาร

สำหรับรายได้ในช่วง 4 เดือนได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่คาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เนื่องจากมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น ซีอิ๊วญี่ปุ่น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยบริโภคอาหารญี่ปุ่นทั้งสำหรับทำซุปและน้ำจิ้ม ซึ่งจะผลักดันรายได้ของบริษัทในปีนี้ 2,500 ล้านบาท โดย 90% มาจากรายได้ในประเทศ และอีก 10% มาจากส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น