xs
xsm
sm
md
lg

Music Segment Champion การกลับมาของอาร์เอส บนสมรภูมิเสียงเพลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - *"ผู้ถือลิขสิทธิ์ครบวงจรของทัวนาเมนต์ฟุตบอล 2 รายการใหญ่ ฟุตบอลโลก และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป"

*"ผู้รับสัมปทานสิทธิทางการตลาด การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ปี 2009 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว"

*"เจ้าของสนามฟุตบอลในร่มไฮเทคที่สุดของเมืองไทย "S-One"

*"ผู้จัดไลฟ์โชว์รายใหม่ คู่แข่งบีอีซี เทโร เจ้าของโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ คริสติน่า อากีเลร่า และเดวิด คอปเปอร์ฟิลล์"

*"ผู้ให้บริการสื่ออินสโตร์มีเดีย ภายในโมเดิร์นเทรดแบรนด์ใหญ่ ทั้งโลตัส คาร์ฟู บิ๊กซี และท็อปส์"


ภาพของบริษัทบันเทิงรายใหญ่ ที่มีอายุยาวนานนาม อาร์เอส ในสายตาผู้บริโภคทั่วไปอาจดูเหมือนไกลห่างออกจากตำแหน่งที่เคยยืนอยู่เดิมขึ้นเรื่อย ๆ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ผ่านเส้นทางยาวนานกว่า 25 ปี ร่วมพลิกโฉมวงการเพลงในเมืองไทยหน้าแล้วหน้าเล่า แจ้งเกิดนักร้อง นักดนตรีนับร้อยชีวิตขึ้นประดับวงการ สร้างเครือข่ายสื่อในการสนับสนุนศิลปินอย่างเข้มแข็ง ทั้งสื่อโทรทัศน์ สถานีวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ จนถึงสื่อออนไลน์ ถูกบดบังด้วยโครงการในสมรภูมิใหม่ ๆ ที่เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ทยอยเปิดตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สวนทางกับศิลปินหลากหลายหน้าตาที่อาร์เอสส่งเข้าสู่ตลาดในช่วงหลัง แทบไม่เป็นที่รู้จักในคนหมู่กว้าง มีเพียงผู้ฟังซอยย่อยออกเป็นกลุ่มเท่านั้นที่ให้ความสนใจ

เมื่อประกอบกับผลประกอบการของอาร์เอส ช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งพึ่งพาอยู่กับธุรกิจเพลงเป็นหลัก ตัวเลขลดต่ำลง ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล พูดคุย ร้องเรียนกับหลาย ๆ รัฐมนตรี ก็ไม่ได้ช่วยให้ความแพร่หลายของซีดี วีซีดี ดีวีดีเถื่อน ลดน้อยลงเลย ภาพของศิลปินวัยรุ่นของอาร์เอสร่วมทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ปรากฏให้เห็นพร้อม ๆ กับภาพของศิลปินลูกทุ่งหมายเลข 1 ของค่ายอย่าง โปงลางสะออน นำคณะเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากตำรวจ และรัฐบาล จากการถูกละเมิดสิทธิ์ผลงานอย่างรุนแรง ทำให้ยิ่งดูเหมือนว่า อาร์เอส กำลังจะถอดใจกับธุรกิจเพลงเสียแล้ว

แต่ล่าสุด บอสใหญ่อาร์เอส กลับมาประกาศรุกสมรภูมิธุรกิจเพลงอีกครั้ง

ดิจิตอลถึงจุดสร้างรายได้
เสริมทัพดนตรีลุยรอบใหม่


สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ช่วงเวลาแห่งการหยุดนิ่งในธุรกิจเพลงของอาร์เอสที่ผ่านมา เกิดจากความรุนแรงของการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงในกลุ่ม Physical Product ซีดี วีซีดี และดีวีดี ที่มีแต่หนักหน่วงขึ้น ขณะเดียวกัน Digital Product ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ทดแทนได้ แต่บัดนี้พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงดัชนีหลายส่วนแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสร้างรายได้จากการขายคอนเทนต์เพลงในกลุ่มดิจิตอล รายได้จากการสินค้าดิจิตอลสูงขึ้น ศิลปินบางรายสร้างรายได้จากช่องทางดิจิตอลสูงถึง 70-80% จากรายได้ทั้งหมด

สุรชัยมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงภายในอาร์เอสมาตลอดช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถรุกเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มที่ เริ่มจากการขายโรงงานผลิตเทป และซีดี หยุดการขายอัลบัมเพลงในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์ คงเหลือเพียงซีดีที่ก็มีการลดปริมาณในแต่ละอัลบัมลง เพื่อลดภาระจาก Physical Product เหล่านี้ อันเป็นปัญหาหนักของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ต้องทิ้งเงินจำนวนมหาศาลจมไปกับสต็อกเทปและซีดีที่กลับย้อนคืนมาหลังจากอัลบัมนั้นหมดความนิยมในตลาด จากอดีตอาร์เอสเคยเก็บสินค้าคงคลังไว้กว่า 20 ล้านหน่วย ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ล้านหน่วย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ได้สร้างปัญหาในการบริหารงานในแต่ละปีเท่าไรนัก

การคืนสัญญาศิลปินเป็นอีกส่วนสำคัญที่อาร์เอสมีการขยับครั้งใหญ่ในช่วงปี-2 ปีที่ผ่านมา ศิลปินมากหน้าหลายตาที่เข้าอยู่ในชายคาอาร์เอสก่อนยุคการเปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลงจาก Physical สู่ Digital และสุรชัยมองเห็นว่า คงไม่สามารถนำพาศิลปินเหล่านั้นก้าวสู่เส้นทางดิจิตอลของอาร์เอสได้ ก็มีการคืนสัญญาศิลปินจำนวนมาก ผลัดเปลี่ยนศิลปินหน้าใหม่ ๆ และศิลปินที่เดินออกมาจากค่ายอื่นแต่มีฐานแฟนเพลงที่มีพฤติกรรมการฟังเพลงจากสื่อดิจิตอล เข้ามาแทนที่ อาทิ ซิลลี่ฟูล, สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์, โป้ โยคีเพลย์บอย หรือแม้กระทั่งเพลงของคนรุ่นใหญ่อย่าง ป้อม ออโต้บาห์น หรือ โก้ Mr.Saxman

อีกหนึ่งแนวทางการบริหารที่สุรชัยมีการปรับเปลี่ยนจนได้รับความสนใจจากศิลปินเพลงในทุกภาคส่วน คือการปรับโครงสร้างลิขสิทธิ์เพลงให้สอดคล้องกับระบบสากล กล่าวคือ การมอบสิทธิ์ให้กับตัวศิลปินที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา มิใช่อยู่กับค่ายเพลงเหมือนในอดีต กลายเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน ทิ้งค่ายเพลงเดิมของตน เข้ามาร่วมงานกับอาร์เอส

โครงสร้างทุกส่วนถูกปรับเปลี่ยนให้องค์กรอาร์เอสมีความพร้อมมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเห็นความพร้อมของตลาดที่เด่นชัดในปีนี้ สุรชัยจึงปักธงรบลงในธุรกิจเสียงเพลงอีกครั้ง โดยวางกลยุทธ์ Music Segment Champion เป็นอาวุธสำคัญ

Music Segment Champion มีการแบ่งธุรกิจเพลงของอาร์เอส ออกเป็นเซกเมนต์ 8 แนวเพลง โดยใช้ 10 ค่ายเพลงเป็นผู้เจาะเข้ามา

Teen Community เจาะกลุ่มพรีทีน อายุระหว่าง 9-17 ปี ประถมถึงมัธยมที่มีไลฟ์สไตล์ความเป็นตัวตนที่ชัดเจน มีความสามารถเฉพาะตัวและมีคาแรคเตอร์เป็น Trendsetter ให้กับวัยรุ่นในสังคมได้ โดยค่ายเพลงกามิกาเซ่ ที่มีศิลปินอาทิ โฟร์-มด, เฟย์ ฟาง แก้ว, เค-โอติก เป็นทีมรุกเข้าถึง

Digital Pop Idol เล็งเป้าที่กลุ่มเด็กมัธยมขึ้นไป 15-25 ปี มีไลฟ์สไตล์ติดอยู่กับการใช้เทคโนโลยี บริโภคสื่อออนไลน์ มีศิลปินใน 2 ค่าย เมโลดิก้า และอะบอริจิ้น ประกอบด้วย ฟิล์ม รัฐภูมิ, ลิเดีย, เกิร์ลลี่ เบอร์รี่, บีม-กวี เป็นศิลปินในกลุ่มนี้

Uni Club เป็นดนตรีแนวใหม่แนวเทคโนมิวสิก ที่อาร์เอสยังไม่เคยเข้าถึง เจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 18-29 ปี วัยอุดมศึกษาจนถึงเริ่มทำงาน ได้สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ และโป้ โยคีเพลย์บอย อดีตแกนนำค่ายขนมปังเบเกอรี่ มิวสิก มาเป็นหัวเรือใหญ่ให้กับค่ายเพลงใหม่ เพลนตี้ มิวสิค

Underground แนวเพลงร็อกที่เจาะกลุ่มเป้าหมายชายที่อยู่ในวัยเรียนจนถึงวัยทำงานตอนต้น อายุระหว่าง 16-21 ปี ถือเป็นกลุ่มนิซที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเทรนให้กับตลาดร็อก วางค่ายเพลงดาร์ค ไซด์ ที่มีศิลปินร็อกหน้าใหม่แต่เป็นที่รู้จักในกลุ่มเพลงใต้ดินอย่างดี อย่าง Zabulatal หรือ Rabbit Dolls เป็นตัวชูโรง

Rock Society เพลงร็อกบนดินที่นำเสนอศิลปินร็อกซึ่งมีชื่อเสียงเป็นรู้จัก อย่าง ซิลลี่ฟูล, สปินเฮด และ Butterfly Effect ภายใต้สังกัด 9Richter และ Pirate เจาะกลุ่มผู้ฟังวัยมหาวิทยาลัยจนถึงวัยทำงานซึ่งนิยมในแนวเพลงร็อก อันเป็นกลุ่มที่อาร์เอสพยายามเจาะเข้ามาโดยตลอด

Easy Listening เพลงฟังสบายเจาะกลุ่มเป้าหมายคนเมือง อายุระหว่าง 22-35 ปี มีไลฟ์สไตล์รักความสนุก งานเลี้ยงสังสรรค์ ท่องเที่ยว กีฬา มีค่ายเพลงเมลโล โทน และศิลปินในสังกัดอย่าง โก้ มิสเตอร์แซคเมน, ออโต้บาห์น และจิรพรรณ อังศวนนท์ เป็นทีมรุกหลักในการเจาะตลาดใหม่ ๆ ของอาร์เอสนี้

Hipster ค่ายเพลงออนไลน์ ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่สนใจดนตรี อายุระหว่าง 15-30 ปี มีช่องทางสื่อสารผ่านเว็บไซต์ pleng.com ซึ่งเป็นเว็บคอมมูนิตี้ค้นหาศิลปินเข้าสู่วงการ อันเป็นเทรนของโลกดิจิตอลที่อาร์เอสขอจองพื้นที่เป็นค่ายแรก

แม้สุรชัยจะมีการแบ่งกลุ่มดนตรีกระจายออกมาถึง 8 กลุ่ม แต่สิ่งที่เหมือนกันของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 8 คือ ทุกกลุ่มมีพฤติกรรมการบริโภคเทคโนโลยีดิจิตอล และใช้สื่อออนไลน์อยู่ในชีวิตประจำวัน แม้จุดเริ่มต้นจะเริ่มจากการเจาะแต่ละกลุ่มเป็นนิช แต่เป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในแต่กลุ่มนั้น การเติบโตของการบริโภคเทคโนโลยีดิจิตอล ก็น่าจะพาให้อาร์เอสกลับสู่ความรุ่งเรืองในธุรกิจเพลงได้

สุรชัยกล่าวว่า แม้วันนี้ปัญหาของการละเมิดสิทธิ์ในคอนเทนต์ดิจิตอลมีความรุนแรงไม่ต่างจากปัญหาเทปผี ซีดีเถื่อน แต่ความเสียหายของค่ายเพลงจากสินค้าดิจิตอลน้อยกว่ามาก เพราะการละเมิดในส่วนของซีดี นอกจากส่งผลกระทบให้กับยอดขายของค่ายเพลงแล้ว ในส่วนของสต็อกสินค้าที่ย้อนคืนกลับมาก็เป็นมูลค่าความเสียหายก้อนใหญ่ ขณะที่การละเมิดสิทธิ์ในโลกดิจิตอล ไม่มีต้นทุนของการผลิตสินค้า ความเสียหายมีเพียงรายได้จากการจำหน่ายที่หายไป แต่ไม่มีสต็อกสินค้าใด ๆ ให้ต้องแบกรับ และส่วนสำคัญคือ ผู้ละเมิดสิทธิ์ในส่วน Physical เป็นผู้ประกอบการที่หวังสร้างรายได้ ขณะที่ผู้ละเมิดสิทธิ์ในส่วนดิจิตอล การดาวน์โหลดเพลงส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่า จะสามารถหาแนวทางสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค หรือการหากลยุทธทางการตลาดมาดึงดูดให้ผู้บริโภคเหล่านั้นเห็นความสำคัญของการซื้อสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง

ทำให้เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ มั่นใจว่า เมื่อความแข็งแกร่งในธุรกิจเพลงกลับคืนมา ผลประกอบการของอาร์เอสในปีนี้ก็จะพลิกมาเดินหน้าอย่างเข้มแข็งได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น