xs
xsm
sm
md
lg

กม.ผู้บริโภคบังคับใช้ 23 ส.ค.เผย 6 เดือนยอดร้อง 1,431 ราย ฟิตเนสเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทย เตรียมเฮ กม.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค บังคับใช้ 23 ส.ค.นี้ มี “ศาลผู้บริโภค” ให้ความเป็นธรรม สินค้าห่วย-ถูกเอาเปรียบ-เสียหายจากบริการ ฟ้องได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ศาลมีอำนาจ เรียกเก็บ-ทำลายของไม่ได้มาตรฐาน สั่งปรับเพิ่มได้อีก 2 เท่า ถ้าผู้ประกอบการตั้งใจทำผิด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-สภาทนายความ-สป. จัดงาน “ทุกข์ของเรา...ศาลผู้บริโภคช่วยได้หรือไม่” ระดมทีมทนายให้คำปรึกษา เขียนคำร้องฟ้องศาล 17 ส.ค. นี้

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีแถลง “นับถอยหลัง สู่วันบังคับใช้กม.เพื่อผู้บริโภค” โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ค.2551 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดศาลคดีผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนไทยทุกคน ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งของศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ ทำให้ศาลคดีแพ่งปกติกลายเป็นศาลชำนาญในคดีบริโภคทุกศาล ผู้บริโภคทุกคนที่ได้รับความเสียหาย หรืออันตรายจากสินค้า หรือบริการ รวมถึงบริการทางการแพทย์ สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแขวง ศาลจังหวัด และศาลแพ่งทุกแห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย วิธีการพิจารณาคดีจะสะดวก รวดเร็ว ประหยัด เที่ยงธรรม

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับทราบสิทธิของตนเอง เช่น ผู้บริโภคสามารถฟ้องด้วยวาจา ศาลจะเป็นคนทำสำนวนให้ หรือเดิมศาลแพ่งกำหนดให้ผู้ใดฟ้องผู้นั้นพิสูจน์ แต่ตาม พ.ร.บ.ใหม่ ผู้ประกอบการ ต้องเป็นผู้พิสูจน์ และรับภาระค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ความผิด รวมทั้งกฎหมายกำหนดว่า หากผู้ประกอบการถูกฟ้องร้องความผิดฐานเดียวกัน ศาลสามารถใช้คำตัดสินเดิมมาพิจารณาลงโทษได้ และหากพบว่าจงใจกระทำผิดซ้ำ และมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ สามารถสั่งปรับเพิ่มได้

“หลายเรื่องที่ผู้บริโภคไม่ทราบว่าตนเองได้รับความเสียหาย เช่น กรณีของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน มีการกำหนดวันหมดอายุ และมีการหักเงินเนื่องจากวันหมดอายุ ผู้บริโภคอาจคิดว่าเพียงไม่กี่บาท แต่เมื่อรวมกันแล้ว ผู้ประกอบการจะได้เงินเป็น 100 ล้าน หรือการเหมาจ่ายรายเดือน มีประกาศของ กทช.ว่า ห้ามเรียกเก็บค่าบริการต่อสัญญาณ แต่ก็พบว่ามีการละเมิดเรียกเก็บครั้งละ 107 บาท ซึ่งเป็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น และผิดกฎหมาย”นพ.ประวิทย์ กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเข้ามาเฉพาะมูลนิธิผู้บริโภคเพียง 6 เดือนแรกปี 2551 มีจำนวน 1,431 ราย สูงสุดคือ หนี้สิน 999 ราย ประกันภัย 174 ราย คุณภาพบริการ 108 ราย อสังหาริมทรัพย์ 58 ราย เป็นต้น คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีการร้องเรียนประมาณ 3,000 ราย โดยในจำนวนนี้ กรณีร้องเรียนเรื่องการประกันภัย จาก 174 ราย เป็นผู้เสียหายจากบริษัท สัมพันธประกันภัย 92 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 9.3 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ยื่นฟ้องตามกฎหมายฉบับนี้

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ส่วนความเสียหายจากกรณีอื่นๆ ส่วนมากจะถูกประวิงเวลาในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าซ่อมแซม เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ พบว่า มีการร้องเรียนมากขึ้น เช่น ฟิตเนส พบว่า มีการร้องเรียนจากกรณีผิดสัญญา ยกเลิกกิจการโดยไม่คืนค่าธรรมเนียม เรียกเก็บค่าปรับการต่ออายุบัตรเกินจริงเช่น ค่าต่ออายุบัตร 100 บาท เรียกเก็บค่าปรับ 9,999 บาท อ้างว่าให้ใช้บริการฟรีก่อน แต่ต่อมาภายหลังเรียกเก็บเงิน
หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย บ้าน/ คอนโดกรณีที่อยู่อาศัย เช่น ซื้อบ้านยังไม่ได้บ้าน ปัญหานิติบุคคลอาคารชุดและ บ้านจัดสรร หรือแม้กระทั่งการถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเองทั้งที่ชำระด้วยเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ส่วนบริการทางการแพทย์ยังมีข้อถกเถียงจากบุคลากรทางการแพทย์ที่อ้างว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ป่วยยื่นฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น และข้อยกเว้นการร่วมใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งตนเห็นว่าอย่างไรก็ควรใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ เพราะยังมีการให้บริการทางการแพทย์ เช่น คลินิกเสริมความงามที่ผิดกฎหมาย ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายฉีดเข้าสู่ร่างกาย หรือแม้กระทั่งใช้สารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้รักษาทางการแพทย์มาใช้เสริมความงาม และยังพบว่า มีการร้องเรียนทางแพทย์ ที่เกิดมาจากมาตรฐาน คุณภาพการบริการของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ประโยชน์จากกฎหมายฉบับดังกล่าว จะทำให้กระบวนการฟ้องร้องรวดเร็วขึ้น เพราะมีเพียงศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ โดยศาลมีอำนาจคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการ เช่น เปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แทนการแก้ไขซ่อมแซม กรณีสินค้าอันตราย ให้ผู้ประกอบธุรกิจทำประกาศเรียกรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค และห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือ เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่าย หรือให้ทำลายสินค้าที่เหลือที่เพิ่มเติม และมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอ เปรียบเทียบปรับเชิงลงโทษ อาจใช้ผลการพิจารณาคดีเดิมเป็นฐานในการพิจารณาคดีที่ฟ้องใหม่ ผู้ประกอบการที่จะฟ้องคดีผู้บริโภค ต้องฟ้องในภูมิลำเนาผู้บริโภค จากเดิมฟ้องที่ผู้ประกอบการมีภูมิลำเนา ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ช่วยเยียวยาให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และมีความรวดเร็ว จะทำให้ประชาชนเกิดแรงกระตุ้นที่จะรักษาสิทธิของตนเอง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ซึ่งอยู่ในฐานะผู้บริโภคทุกคน มีความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงร่วมกับ สภาทนายความ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จัดงาน “ทุกข์ของเรา...ศาลผู้บริโภคช่วยได้หรือไม่” วันที่ 17 ส.ค.นี้ ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต จะมีคณะทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ให้บริการรับปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน ช่วยเขียนคำฟ้องประชาชนทั่วไปที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคและประสงค์ที่จะใช้ช่องทางฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภค มีอาสาสมัครจากชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งประชาชนที่ประสบปัญหาการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือได้รับอันตรายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย สามารถมาขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้
กำลังโหลดความคิดเห็น