xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิบัติการยึดตลาดฟาสต์ฟิต บริดจสโตนรุมกินโต๊ะบี-ควิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * บริดจสโตนเดินเกมรุก ขยายช่องทางจำหน่ายแบบไม่ยั้ง หลังเทกโอเวอร์เชลล์ ออโต้ เซิร์ฟ

* จับตาปฏิบัติการรุกแบบรุมกันตี ทำให้คู่แข่งสะท้านได้หรือไม่

* บี-ควิก บ่ยั่นเดินหน้าตามแผนเดิม ปูพรมรบทั้งอะโบฟ –บีโลว์ เดอะ ไลน์


ด้วยมูลค่าของตลาดยางที่มีกว่าหมื่นล้านบาท ส่งผลให้การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งในรูปแบบของการแข่งขันในตลาดหลักอย่าง (OEM) ที่ป้อนสู่โรงงานรถยนต์แต่ละค่าย และตลาดทดแทน (REM) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แต่ละค่ายยางทั้งหลายต่างแข่งขันและขับเคี่ยวชนิดไม่มีใครยอมใคร ซึ่งการได้มาของฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนตามจังหวัดต่างๆที่ได้มีการแต่งตั้ง หรือผ่านยี่ปั้วซาปั้ว

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งช่องทางที่แต่ละค่ายต่างเล็งเห็นและเริ่มรุกกันอย่างจริงจังในช่วงหลายปีมานี้คือ การหันมาจำหน่ายเองผ่านร้านค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า ธุรกิจฟาสต์ฟิต

ธุรกิจฟาสต์ฟิต ถือเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายของยางแต่ละบริษัทที่ให้ความสำคัญมากขึ้น-มากขึ้น อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในภาวะปกติเมื่อมีปัญหาเรื่องยาง หรือต้องการเปลี่ยนยาง หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องรถยนต์ โดยเฉพาะระบบช่วงล่าง ผู้บริโภคมักจะตัดสินใจเลือกใช้บริการกับศูนย์ฯที่อยู่ใกล้บ้าน

ปัจจุบันบริษัทยางได้ขยายศูนย์บริการฟาสต์ฟิตภายใต้แบรนด์ของตนเองแล้วแทบทั้งสิ้น อาทิ ไทร์พลัส ของค่าย มิชลิน ,อีเกิ้ล สโตร์ ของค่ายกู้ดเยียร์ ,ค็อกพิท และ ออโต้ บอย ของค่ายบริดจสโตน ขณะที่ค่ายอื่นที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจฟาสต์ฟิตแต่ไม่ได้มีโรงงานผลิตยางของตัวเองเลยก็มี บี – ควิก ,ออโต้แบค ที่เป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และอีกหนึ่งแบรนด์เชลล์ ออโต้ เซิร์ฟ ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น แอค บริหารงานภายใต้บริษัท บริดจสโตน เอ.ซี.ที (ประเทศไทย)

การตัดสินใจขายแบรนด์ เชลล์ ออโต้เซิร์ฟ ให้กับบริดจสโตน เนื่องจากเหตุผลที่ว่าธุรกิจดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดกำไร ส่งผลให้วันนี้ ธุรกิจฟาสต์ฟิตของค่ายยางบริดจสโตนแบ่งออกเป็น 3 ร้านหลักคือ ค็อกพิท ,ออโต้บอย และล่าสุดคือ แอค หรือชื่อเดิมคือ เชลล์ ออโต้เซิร์ฟ

ค็อกพิท – ออโต้บอย – แอค
รวมกันอยู่ หรือ สู้กันเอง


การมีแบรนด์ฟาสต์ฟิตอยู่ในมือถึง 3 แบรนด์ อาจจะดูสับสนในแง่ของความแตกต่างของการให้บริการรวมไปถึงการแข่งขันกันเอง แต่บริดจสโตนมองว่าแต่ละแบรนด์ต่างมีการวางโพสิชั่นนิ่งที่แตกต่างกันออกไป โดยแบรนด์หลักที่มีจำนวนสาขามากที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดของบริดจสโตนคือ ค็อกพิท ที่มีจำนวนสาขากว่า 111 แห่ง และตั้งเป้าที่จะขยายให้ครบ 150 แห่งภายในปีนี้

โดยกลุ่มเป้าหมายของค็อกพิทนั้นเป็นกลุ่มคนรักรถที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องรถ และยางเป็นอย่างดี ดังนั้นภายในร้านค็อกพิทจะเน้นหนักไปที่การขายยางเสียเป็นส่วนใหญ่ และจะมียางทุกประเภทไว้รองรับทุกความต้องการของลูกค้า โดยสินค้าหลักที่วางขายจะยังคงเน้นแบรนด์ บริดจสโตนและไฟร์สโตน

ด้านออโต้บอย ที่มีจำนวนสาขากว่า 60 แห่งและตั้งเป้าที่จะขยายเพิ่มอีก 10 แห่งภายในปีนี้ ถูกวางให้เป็นศูนย์บริการและจำหน่ายยางรถยนต์เช่นเดียวกับค็อกพิท แต่จะพุ่งเป้าไปที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบการขับขี่ และรักความทันสมัย สะดวกสบาย โดยภายในศูนย์ฯมีบริการ ยางรถยนต์ ล้อแม็ก น้ำมันเครื่อง และ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์

การมี 2 แบรนด์อยู่ในมืออาจจะมองว่าเพียงพอต่อการรองรับลูกค้าภายในประเทศ แต่เมื่อมองถึงภาพรวมของการแข่งขันธุรกิจยางรถยนต์ในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาดและแบรนด์น้องใหม่ ประกอบกับการลงทุนจำนวนหลายพันล้านบาทของบริดจสโตน ที่ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น การขยายช่องทางการจำหน่ายยางทดแทน (REM) จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่พวกเขาได้ทำ

ภารกิจการเติมเต็มช่องว่างทางการขายจึงเริ่มขึ้น โดยบริดจสโตนบอกว่า การเลือกเชลล์ออโต้เซิร์ฟ หรือ ปัจจุบันคือ แอค เนื่องจากเป็นธุรกิจฟาสต์ฟิตที่มีความพร้อมในด้านการให้บริการที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนโช้ค เปลี่ยนแบตเตอรี่ เช็คระบบช่วงล่าง ระบบแอร์ ตั้งศูนย์ ถ่วงล้อ ตรวจเช็คเครื่องยนต์ทั่วไป รวมไปถึงจัดจำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษารถยนต์ ประกอบกับการมีจำนวนสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 64 สาขาและในต่างประเทศอีก 8 สาขาจึงทำให้บริดจสโตนมั่นใจว่าการตัดสินใจในครั้งนี้จะทำให้พวกเขามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายของ แอค นั้น เป็นกลุ่มคนทั่วไปที่รักรถแต่ไม่มีเวลาดูแลรถยนต์ หรือ จะเป็นคนที่ไม่มีความรู้เรื่องรถเลย แต่รักรถ กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

วินิจ ปรุงพาณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจสโตน เอ.ซี.ที (ประเทศไทย)กล่าวว่า การตัดสินใจซื้อแบรนด์เชลล์ ออโต้ เซิร์ฟ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานที่ดี ทั้งในแง่ของตัวสินค้า การขยายสาขา ถือได้ว่ามีความแข็งแกร่งอยู่ในตัว ดังนั้นการที่บริดจสโตนเข้ามาบริหารต่อจึงเป็นการต่อยอดศักยภาพที่มีอยู่ในเรื่องยางให้เข้มแข็ง ส่วนคำถามที่เกิดขึ้นว่า ธุรกิจทั้งสามแบรนด์ระหว่าง ค็อกพิท ออโต้บอย และแอค จะทับซ้อนกันหรือไม่นั้น มองว่าในแง่ของการแข่งขันคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในเชิงของกลุ่มเป้านั้นถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าคนละประเภท

ขณะที่ตัวสินค้า แบรนด์ แอค จะมีสินค้าและการบริการที่หลากหลายกว่าทั้งในส่วนของยางที่จะมีทั้ง สินค้าของบริดจสโตน ไฟร์สโตน รวมถึงของคู่แข่งอย่างมิชลิน ส่วนบริการด้านต่างๆจะมีเหนือแบรนด์ ค็อกพิท อาทิ บริการฉุกเฉิน บริการสลับยางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแตกต่างจากค็อกพิทที่มุ่งเน้นขายยางเป็นหลัก ส่วนบริการอื่นๆก็ไม่ได้แตกต่างจากศูนย์บริการฟาสต์ฟิตทั่วๆไป

นอกจากสินค้าและบริการที่แตกต่างแล้ว กลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้าของทั้งใหม่และเก่าของแอค ที่มีในฐานข้อมูลกว่า 1 แสนราย คือ การมุ่งเน้นไปที่การบริการเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า การบริการที่ดี การให้ข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลรักษารถยนต์แก่ลูกค้า การดูแลลูกค้าเก่า และในอนาคตจะมีการจับมือกับผู้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆที่มีจำหน่ายในศูนย์บริการอาทิ โช้คอัพ โดยจะเป็นการขอความร่วมมือด้านเทคนิค ด้วยการส่งช่างเข้าไปเรียนรู้เทคนิคต่างๆจากบริษัทผู้ผลิตขณะที่เรื่องของกลยุทธ์ทางด้านราคา หรือโปรโมชั่น จะเป็นเรื่องรองลงมา ส่วนการสื่อสารทางการตลาดเบื้องต้นจะใช้การโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง

ความเหนือกว่าด้านสินค้า – บริการ และการทำตลาดอันนี้เอง ทำให้ชื่อของแบรนด์ แอค น่าจะก้าวมาเป็นแถวหน้าของธุรกิจฟาสต์ฟิตของค่ายบริดจสโตน ส่วนค็อกพิทซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยบริษัทแม่เพียง 10 % และที่เหลืออีก 90 % เป็นการบริหารงานโดยแฟรนไซส์ เริ่มมีความกังวลว่าแบรนด์ของตนเองจะถูกแย่งชิงพื้นที่ของลูกค้า ตรงจุดนี้จึงก่อให้เกิดความสับสนและไม่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่ค่ายคู่แข่งต่างเล็งเห็นและนำมาเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

ความสับสนที่เกิดขึ้นในใจของลูกค้าในขณะนี้ ส่งผลให้บี-ควิกเล็งเห็นช่องว่างในการจะเจาะกลุ่มลูกค้าเพื่อหันมาใช้บริการของพวกเขา ด้วยการเตรียมออกโปรโมชั่นที่ว่า “ขาดคนดูแล มาบี-ควิก” เพียงลูกค้ามีสมุดคู่มือการรับประกันยางของศูนย์บริการใดก็ได้ สามารถนำมาใช้บริการหลังการขายฟรี อาทิ การสลับยางถ่วงล้อตามระยะ หรือการปะยางตลอดอายุยาง หรือในกรณีที่ผู้ใช้รถซื้อยางจากศูนย์บริการอื่นๆแล้วมีปัญหา และศูนย์บริการเหล่านั้นไม่ได้จำหน่ายยางยี่ห้อนั้นๆแล้ว ทางบี-ควิกยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการทำเรื่องเคลมยางให้แก่ลูกค้ากับโรงงานผู้ผลิต ซึ่งกลยุทธ์นี้ถือเป็นการสวิทซ์ลูกค้าใหม่ๆให้เข้ามาใช้บริการกับบี-ควิกได้

บี-ควิกกางแผนสู้
หวังสร้าง Brand Loyalty


นอกเหนือจากการออกแคมเปญมาสู้ แอค บี-ควิก ซึ่งเป็นค่ายที่มีรูปแบบการให้บริการที่เหมือนกัน ต้องมีการปรับตัว ซึ่งการอยู่ในตลาดมานานกว่า 10 ปี และเป็นหนึ่งเจ้าที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของค่ายยางยี่ห้อใดใดเลย ทำให้ บี – ควิก นำมาเป็นข้อได้เปรียบในการสื่อสารกับลูกค้าคือ การมีทางเลือกที่มากมายให้กับลูกค้า รวมไปถึงการบริการที่ฉับไว ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของฟาสต์ฟิตเจ้านี้

การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายยางยี่ห้อต่างๆรวมไปถึงการซอยเซกเมนต์ของยางให้หลากหลายยิ่งขึ้น ถือเป็นข้อได้เปรียบของ บี –ควิก เหนือ ฟาสต์ฟิตค่ายอื่นๆที่เน้นหนักไปที่สินค้าของตัวเอง ส่งผลให้ทางเลือกของลูกค้ามีน้อย ขณะที่สินค้าประเภทต่างๆทั้งไส้กรอง ผ้าเบรก น้ำมันเครื่องก็มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อเช่นเดียวกัน และยังมีการจัดโปรโมชั่นสินค้าเหล่านี้ในทุกเดือน ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆที่ไม่เน้นทำโปรโมชั่นเท่าไรนัก ส่วนสำคัญอีกประการคือเรื่องของสต๊อกสินค้าส่วนใหญ่ ซึ่งค่ายบี –ควิก มั่นใจว่ามีมากกว่าและพร้อมที่จะให้บริการลูกค้าหากลูกค้าต้องการทันที

นอกจากสินค้าและบริการที่เหนือกว่าคู่แข่ง ในแง่ของสาขาที่แม้จะมีจำนวนน้อยกว่า แต่ บี-ควิกได้เตรียมรับมือด้วยการเตรียมขยายสาขา จากเดิมที่มี 51 แห่ง ภายในปีนี้จะเร่งเปิดอีก 10 แห่งทั้งในและต่างจังหวัด อาทิ พัทยา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และอยุธยา

หากมองยุทธศาสตร์การขยายสาขาของค่ายบี-ควิก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คงเห็นได้ว่ามีความพยายามขยับเข้าไปประชิดกับผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนมากกว่าค่ายใดๆ ดังจะเห็นได้จากการเข้าผนวกความแข็งแกร่งกับเทสโก้ โลตัส และดิสเคาน์สโตร์ ต่างๆ เพื่อขยายสาขาเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิดและรวดเร็วที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้มีศูนย์บริการ บี-ควิก ที่ใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้ห้างสรรพสินค้า

เหตุผลที่บี-ควิก เลือกที่จะขยายเครือข่ายไปกับสาขาของดิสเคาน์สโตร์ จึงเสมือนเป็นการรุกคืบเข้าหาผู้บริโภคเสียเอง แทนที่จะรอให้ผู้บริโภคเดินเข้ามาหา ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการขยายตลาด และลดช่องว่างในส่วนของตลาดในห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคาน์สโตร์ และเพื่อสร้าง Brand Awareness อันเป็นช่องทางนำไปสู่การเป็น Brand Loyalty ต่อไปในอนาคต

และเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากที่สุด บี-ควิก จึงเน้นการทำตลาดด้วยรูปแบบการการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM (Customer Relationship Management)ในลักษณะของ Point of Service โดยการให้บริการลูกค้า ณ จุดที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ การได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การรับประกันสินค้า การบริการตรวจเช็คฟรี การเพิ่มความสะดวกสบาย หรือการดูแลความปลอดภัยด้วยการจัดโซนเด็กเล็กสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานติดตามมา ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ปัจจุบัน บี-ควิก ยังขยายเครือข่ายสาขาจำนวนไม่น้อยในปั๊มน้ำมันยี่ห้อต่างๆ ล่าสุด กำลังจะเปิดที่สถานีบริการน้ำมันปิโตรนาส ถนนรัชดาภิเศก และมีนบุรี แม้ทำเลดังกล่าวเป็นเพียงทางผ่านที่ลูกค้าจะแวะเข้ามาเพื่อเติมน้ำมันโดยไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนยาง หรือเข้ามารับบริการเสมอไป ยกเว้นปั้มน้ำมันที่มีทำเลอยู่ในแหล่งที่พักอาศัย แหล่งที่ตั้งสำนักงาน หรืออยู่ในโซนชอปปิ้งของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แต่บี-ควิกก็เชื่อว่าจะเป็นช่องทางที่มีอนาคต

นอกจากการเร่งขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงตัวผู้บริโภคให้มากที่สุด บี-ควิก ยังใช้กลยุทธ์การทำตลาดด้วยการทำโปรโมชั่นพิเศษอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต การจัดรายการผ่อนสินค้าฟรีดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือนสำหรับสินค้าทุกชนิด ทุกรุ่น อาทิ ยาง แบตเตอรี่ ระบบเบรก โช้กอัพ น้ำมันเครื่อง และระบบช่วงล่าง เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวดูเหมือนจะทำให้ บี-ควิก ยิ่งเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของพฤติกรรมการใช้เงินเพื่อการซื้อสินค้าในยุคนี้ที่ผู้บริโภคเริ่ม “หนืด” กับการควักกระเป๋ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับศูนย์ซ่อมช่วงล่างแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นค็อกพิทของบริดจสโตน หรือร้านอีเกิ้ล สโตนของกู๊ดเยียร์ หรือ ไทร์พลัส ของมิชลิน แต่ละแบรนด์จะมีสังกัด เพื่อรักษาช่องทางการกระจายสินค้าของตน และสร้างความมั่นคงให้กับตัวแบรนด์ ดังนั้นการเข้าไปใช้บริการของลูกค้าจึงมักได้รับการผลักดันให้ใช้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของต้นสังกัดเพียงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ บี-ควิก มีความหลากหลายของจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีให้เลือกมากกว่า ไม่เจาะจงทำตลาดเพียงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ทั้งในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมอย่าง กู๊ดเยียร์ บริดจสโตน และมิชลิน รวมถึงสินค้า House Brand ที่ผลิตจากโรงงานยางที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ ยังมียางสปอร์ตนำเข้าจากประเทศไต้หวันซึ่งมีสนนราคาที่ต่ำกว่ายางสปอร์ตทั่วไป เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค โดยการแนะนำสินค้าแต่ละครั้งจะให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และลักษณะการใช้งานให้มากที่สุด

“บี-ควิกมีความหลากหลายของตัวสินค้าที่มากกว่า โดยมียางทุกเกรด ทุกยี่ห้อ อาทิ มิชลิน กู้ดเยียร์ บีเอฟและอื่นๆ ตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงยางที่เน้นสมรรถนะสำหรับรถแรงๆก็มีให้เลือก นอกจากนั้นยังมีสินค้าที่เป็นเฮาส์แบรนด์อย่าง ยางธันเดอร์เรอร์ ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ายางพรีเมียม แต่ราคาถูกกว่าครึ่งมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และภายในปีนี้หรือต้นปีหน้ามีแผนที่จะขยายเซกเมนต์ของยางในรุ่นต่างๆเข้ามาให้เลือกมากขึ้น” บุษรารัตน์ อัสสรัตนกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์บริการรถยนต์ บี- ควิก กล่าว

ผลจากการรุกตลาดอย่างต่อเนื่องประกอบกับความสับสนของลูกค้าเดิมของค่ายเชลล์ออโต้เซิร์ฟ ที่ย้ายมาใช้บริการกับ บี –ควิก ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี รายได้เติบโต 20 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารทางการตลาดในรูปแบบต่างๆทั้งอโบฟเดอะไลน์ ผ่านสื่อโทรทัศน์ ,หนังสือพิมพ์ ,นิตยสาร ,ป้ายโฆษณา และ บีโลว์ เดอะไลน์ ที่จะเน้นทำกิจกรรม ณ จุดขาย หรือผ่านการเปิดตัวสาขาใหม่ๆในพื้นที่ต่างๆซึ่งทุกสื่อที่ได้ทำการสื่อสารออกไปล้วนแล้วแต่สะท้อนกลับมาสู่การเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้า โดยในปีนี้บี-ควิกได้ทำการวางงบประมาณทางการตลาดเพื่อเตรียมสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าไว้กว่า 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีการใช้งบไป 75 ล้านบาท

“เฉพาะมีนาคมเดือนเดียว เราใช้งบประมาณทางการตลาดกว่า 20 ล้านบาท โดยเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาสองเรื่อง ซึ่งถือเป็นการใช้งบสูงสุดสำหรับกลุ่มธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ ตรงจุดนี้เองเสมือนเป็นการบอกว่าเราเห็นความสำคัญกับตลาดนี้แบบจริงจังมากน้อยแค่ไหน” บุษรารัตน์ กล่าว

ผลจากการรุกตลาดอย่างหนักของค่ายบี-ควิก คาดว่าจะสามารถกวาดยอดขายได้ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดขาย 1,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 30 % ขณะที่ภาพรวมของตลาดต้องดูสถานการณ์ของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยหรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 5 %

ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการของบี-ควิกมากกว่า 35,000 รายต่อเดือน และมีสัดส่วนรายได้หลักของร้านมาจากสินค้าประเภท ยาง 52 % ขณะที่น้ำมันเครื่อง 15 % และที่เหลือจะเป็นรายได้จากส่วนอื่นๆที่มีบริการไว้ในร้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น