ประธานฯ ส.อ.ท. เตรียมเสนอรัฐบาลแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการปรับราคาน้ำตาลทรายให้กลุ่มอุตฯอาหาร โดยขอใช้น้ำตาลทรายโควตาส่งออก (โควตา ค.) มาผลิตสินค้าเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น อาจขอปรับขึ้นราคาสินค้าบางชนิด
วันนี้(9 พ.ค.) นายสันติ วิลาสศักดานนท์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร หลังได้รับผลกระทบด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำตาล เพราะรัฐบาลประกาศขึ้นราคาทันทีกิโลกรัมละ 5 บาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตอนนี้ ได้แก่ ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และนมข้นหวาน
โดยเบื้องต้น ภาคเอกชนจะเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ 2 ประเด็นคือ ขอให้ผู้ประกอบการสามารถใช้น้ำตาลทรายโควตา ค (ส่งออก) มาผลิตสินค้าได้ ซึ่งจะมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าน้ำตาลทรายโควตา ก(ขายในประเทศ) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทราย และหลังจากที่สิ้นสุดการขอใช้น้ำตาลทรายโควตา ค แล้ว ก็จะขอให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบจำนวนมากโดยเฉพาะสินค้าที่ถูกควบคุมราคา เช่น นมข้นหวาน
ทั้งนี้ เหตุที่ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวเนื่องจากหลังรัฐบาลอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศอีกกิโลกรัมละ 5.35 บาท ทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3.6 เดือนได้รับผลกระทบเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทันทีโดยไม่มีเวลาปรับตัว
"อุตสาหกรรมอาหารใช้น้ำตาลในการผลิตประมาณ 10% เมื่อมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 32% เมื่อคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดประมาณ 3%แม้ว่าจะเพิ่มเพียงเล็กน้อยแต่สินค้าส่งออกมีกำไรที่ไม่สูงมาก เมื่อต้นทุนเพิ่ม 3% ก็จะทำให้กำไรลดลง หรือไม่มีกำไรก็ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ถูกคุมราคาอย่างนมข้นหวาน"
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อแก้ไขให้การค้าขายน้ำตาลทรายอย่างเสรี ซึ่งที่ผานมาได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)พิจารณาแล้ว ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการจะทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการสั่งซื้อผลไม้จากเกษตรกรที่กำลังจะออกมา และทำให้ยอดส่งออกอาหารไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่12-15%