xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ต่อยอดเครื่องฟรีซ ดราย ช่วย เอสเอ็มอี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. จับมือ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ต่อยอดการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ นำร่องโดยการทดสอบการใช้ประโยชน์กับกลุ่มอุตสาหกรรมยาและสมุนไพร หวังพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและแพทย์แผนไทยไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัดภาคกลาง พร้อมให้บริการกับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมมือกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย ในการพัฒนาเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) ภายใต้โครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐานประจำปี 2550 ที่ผ่านมา โดยการพัฒนาต่อยอดเครื่องต้นแบบ ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ขณะนี้เครื่องดังกล่าวได้ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง สสว. จึงได้ร่วมกับ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินโครงการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในครั้งนี้

“ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ของเครื่องทำแห้งเยือกแข็งฯ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยาและสมุนไพร ขณะเดียวกันก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว สสว. ได้มอบเครื่องทำแห้งเยือกแข็งฯ ขนาด 50 ลิตร 1 เครื่องให้กับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยจะติดตั้งอยู่ที่ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผยไทย เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม ยาและสมุนไพร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนผ่าน โครงการบูรณาการสร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พฤษภาคม 2550-เมษายน 2551 โดยมุ่งสร้างอาชีพด้วยการส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรเชิงเกษตรอินทรีย์สู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี และปทุมธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น