พาณิชย์เคาะราคาข้าวถุงธงฟ้า 120 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด 150-160 บาท ยันผลิตแค่ 3 แสนถุง เพื่อดัมป์ราคา เข็นล็อตแรก 1 แสนถุง 12 พ.ค.นี้ โดยพุ่งเป้าทุ่มตลาด กทม.พรวดเดียว 7.3 หมื่นถุง นายกสมาคมชาวนาไทย โวยข้าวถุงธงฟ้าทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ พร้อมจี้รัฐประกันราคาขั้นต่ำ 1 หมื่นบ.
วันนี้ (8 พ.ค.) นายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำข้าวถุงธงฟ้ามหาชน กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการ โดยระบุว่า ที่ประชุมได้กำหนดราคาจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้า ซึ่งนำข้าวขาว 5% มาบรรจุน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 120 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดที่ขายกันอยู่ที่ถุงละ 150-160บาท โดยจะกระจายข้าวล็อตแรก 100,000 ถุง จากทั้งหมด 300,000 ถุง โดย 100,000 ถุงแรกที่จำหน่าย 120 บาท จะกระจายขายใน 9 จังหวัด จังหวัดละ 3,000 ถุง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี สงขลา ลพบุรี ราชบุรี และสมุทรปราการ รวม 27,000 ถุง
ส่วนที่เหลืออีก 73,000 ถุง จะกระจายในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจะเริ่มกระจายถึงมือผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 200,000 ถุง คณะอนุกรรมการจะพิจารณาจัดทำกำหนดราคาและกระจายการจำหน่ายต่อไป ซึ่งราคาอาจไม่ใช่ถุงละ 120 บาท โดยข้าวส่วนที่เหลือนี้จะกระจายถึงมือผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ การบรรจุข้าวถุงธงฟ้ามีต้นทุนข้าวสารและการบรรจุหีบห่อถุงละ 83.34 บาท เมื่อภาครัฐขาย 120 บาท ก็มีกำไรบ้าง แต่โดยรวมข้าว 300,000 ถุง จะได้กำไร 36 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อคืนข้าวจากชาวนามาเก็บใส่สต็อกในราคาตลาด
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาทั่วประเทศรู้สึกไม่ค่อยดีต่อการแก้ไขปัญหาของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพราะหลายอย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทำส่งผลต่อรายได้ของชาวนา เช่น การนำข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลใส่ถุงออกขายราคาต่ำกว่าตลาดร้อยละ 20 ทำให้ผู้ส่งออกข้าว โรงสี ชะลอการซื้อข้าวเปลือก ทำให้ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกลดลง
“ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการนำข้าวในสต๊อกของรัฐบาลมาผลิตข้าวถุงออกขายว่าจะออกมาเท่าไร และรัฐบาลจะซื้อคืนเพื่อเก็บข้าวในสต๊อกเท่าไร และจะรับซื้อคืนในราคาเท่าไร แม้ก่อนหน้านี้จะออกมาบอกว่าให้ราคาเฉลี่ยตันละ 13,000 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลควรประกาศราคารับซื้อให้ชัดเจน” นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวและว่า
ขณะนี้มีฝนตกมากทำให้ข้าวขายได้ราคาไม่ดี เพราะมีความชื้นสูง หากความชื้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 34-35 ราคาจะไม่ถึงตันละ 10,000 บาท แต่หากอยู่ที่ระดับร้อยละ 22-25 จะขายได้เกินตันละ 10,000 บาท สำหรับกรณีที่เกษตรกรหลายพื้นที่ออกมาประท้วงและจะเดินขบวน เพราะถูกกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากโรงสีต่ำนั้นเป็นเรื่องจริง จึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้ความมั่นใจกับชาวนา รัฐบาลควรประกาศประกันราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท เพื่อทำให้ตลาดภายในประเทศนิ่ง
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวนาหลายพื้นที่ประท้วง เพราะโรงสีไม่ยอมรับซื้อข้าว ทั้งที่ตอนนี้ตลาดโลกยังมีความต้องการข้าวอยู่ และมีคำสั่งซื้อเข้ามาจากหลายประเทศ
“ผมขอย้ำว่า ราคาข้าวจะไม่ตกต่ำ โดยเฉพาะการนำข้าวในสตอกของรัฐบาลออกมาขาย ผมยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อกลไกราคาข้าว เพราะเมื่อนำออกมาขายแล้วรัฐบาลก็ซื้อกลับคืน จึงจะไม่ทำให้ข้าวล้นตลาดแน่นอน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวปรับลดลงในช่วงนี้เกิดจากมีความชื้นสูง แต่เชื่อว่าจะไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ชาวนาจึงไม่ควรกังวล เพราะความต้องการข้าวยังคงมีอยู่สูง”
นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะเปิดเผยตัวเลขคำสั่งซื้อข้าวที่มีเข้ามาจากทั่วโลก ซึ่งข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกสูง
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับสมาคมโรงสีข้าว สมาคมชาวนาไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาข้าว หลังมีกระแสข่าวว่าโรงสีข้าวไม่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ว่า ทั้ง 2 สมาคมรับปากจะดูแลสมาชิกให้ไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกร แต่ยอมรับว่าขณะนี้ข้าวเปลือกส่วนใหญ่อาจมีความชื้นสูง ส่งผลให้ราคาอาจตกลง โดยเฉพาะปัญหาจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ขายข้าวเปลือกเหนียวได้ราคาต่ำกว่าตลาด ซึ่งส่วนราชการจะไปดูแลไม่ให้ราคาตกต่ำมากเกินไป ในส่วนของโรงสีแจ้งว่าขณะนี้โรงสีส่วนใหญ่มีข้าวในโกดังค่อนข้างมาก
“การไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกรก็มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่อาจไม่เพียงพอ จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว ประกอบกับผู้ส่งออกบางรายไม่มารับออเดอร์ ทำให้ข้าวอยู่ในโรงสีค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากโรงสีมีสภาพคล่องทางการเงินไม่เพียงพอก็อยากให้ภาครัฐเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินให้ปล่อยเงินกู้เพิ่มแก่โรงสี เพื่อจะได้นำไปซื้อข้าวจากเกษตรกรมาเก็บไว้
นายยรรยง กล่าวว่า เกษตรกรพื้นที่ใดถูกโรงสีไม่รับซื้อข้าวก็ให้ร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 ซึ่งทางโรงสีย้ำว่าราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร 13,000-14,000 บาทต่อตัน ไม่เป็นปัญหา สามารถรับได้ แม้สต็อกข้าวในโรงสีจะมีจำนวนมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่อง ประกอบกับโรงสีและสมาคมชาวนาไทยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ หากราคาข้าวลดไปกว่านี้จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า สมาคมได้ประเมินสถานการณ์ราคาข้าวล่าสุด พบว่า ปรับตัวลดลงทั้งราคาในประเทศและต่างประเทศ โดยราคาข้าว 100% ในประเทศราคาลดลง จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท ต่อ 100กิโลกรัม หรือตันละ 27,000 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 2,600 บาทต่อ100กิโลกรัม หรือ ตันละ 26,000 บาท ขณะที่ราคาส่งออก (เอฟโอบี) ตันละ 894 ดอลลาร์ ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 854 ดอลลาร์ เฉลี่ยประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อตัน
สาเหตุที่ราคาข้าวลดลง เนื่องจากข้าวนาปรังออกสู่ตลาดปริมาณมาก และโรงสีที่มีข้าวอยู่ในมือ เริ่มปล่อยข้าวสู่ตลาดเพื่อรองรับข้าวใหม่ ขณะที่การส่งออกชะลอตัวในช่วงเดือนเม.ย. ที่ส่งออกปริมาณ 7.8 แสนตัน และคาดว่า การส่งออกเดือน พ.ค.นี้ จะอยู่ในระดับเดียวกับเดือนที่ผ่านมา หรือต่ำกว่าเล็กน้อย เพราะผู้ส่งออกไม่กล้าขายข้าวราคาสูง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่สัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์ เพราะการคำนวณราคาส่งออกจะคิดจากราคาภายในประเทศ รวมกับค่าใช้จ่ายการขนส่งและหารด้วยอัตราแลกเปลี่ยน
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนที่รัฐออกมาทำโครงการข้าวถุงธงฟ้ามหาชน แม้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบโดยตรงต่อราคาตลาด เพราะปริมาณข้าวที่รัฐจะนำมาร่วมโครงการไม่มากถึง 2.1 ล้านตัน ตามจำนวนสต็อกที่รัฐมีอยู่ แต่โครงการดังกล่าวจะมีผลในเชิงจิตวิทยา เพราะตลาดมองว่ารัฐออกมาแทรกแซงตลาด ซึ่งผลทางจิตวิทยาสังเกตได้จากการซื้อขายตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ที่ราคาลดลงไป 3-6 บาทต่อกิโลกรัม ทันที่รัฐประกาศโครงการข้าวถุง
“ตอนนี้ตลาดเงียบๆ ลงไปแล้ว เพราะการซื้อข้าวครั้งล่าสุดที่ฟิลิปปินส์ เสนอราคากันสูงประมาณตันละ 1,200 ดอลลาร์ แม้ว่าจะมีการเสนอขายกันในตลาดทั่วไปที่ตันละ 1,000 ดอลลาร์ แต่ก็ไม่มีการตอบรับลูกค้า ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการเฝ้ามองสถานการณ์ แสดงว่าลูกค้าไม่ตอบรับราคาข้าวที่สูงขนาดนี้ ประกอบกับข้าวนาปรังออกมามาก และเงินบาทอ่อนค่า ทั้งหมดเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวลดลง” นายชูเกียรติ กล่าวสรุปทิ้งท้าย