xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบี คาดศก.เอเชียเสี่ยงสูง ตั้งกองทุนฉุกเฉิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์รับมือวิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอดีบี คาดศก.เอเชียปี 51 เหลือแค่ 3.4-4.2% หากราคาข้าวพุ่งไม่หยุด รมต.คลัง 13 ชาติเอเชียง ประกาศตั้งกองทุนฉุกเฉิน 80,000 ล้านดอลลาร์ เตรียมพร้อมปกป้องสกุลเงินภูมิภาคในยามจำเป็น

วันนี้(6 พ.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งได้จัดการประชุมเป็นเวลา 2 วันที่กรุงมาดริด ของสเปน เพื่อหารือถึงแนวโน้มการรับมือเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางในการช่วยเหลือภาวะวิกฤตอาหารแพง ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากจนในเอเชียนับพันล้านคน ที่อาจจะต้องตกอยู่ในภาวะอดอยาก

โดยเอดีบี เปิดเผยรายงานว่า ปีหน้าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นตัวเลขชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินเดีย จีน และเกาหลีใต้ อาจลดลงเหลือ ร้อยละ 3.4 - 4.2 หากราคาอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาข้าวยังคงพุ่งสูงขึ้น

รายงานของเอดีบี ระบุว่า สถานการณ์ราคาข้าวในช่วงนี้อยู่ในภาวะผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ฟิลิปปินส์ล้มการประมูลข้าวเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลงแม่ว่าราคาข้าวจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังจาก 13 ประเทศในเอเชีย ได้ตกลงตั้งกองทุนเป็นเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็นต้องปกป้องสกุลเงินต่างๆในภูมิภาค

ข้อตกลงนี้ได้ใช้เวลาทำนานกว่า 1 ปี และจะแทน "แผนริเริ่มเชียงใหม่" ที่มีอยู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตกลงสวอปเงินในระดับทวิภาคี และจะโอนแผนริเริ่มเชียงใหม่ไปเป็นกลไกในการรวมทุนสำรองต่างประเทศที่มีอำนาจในการบริหารตนเองมากขึ้นโดยมีสัญญาเดียวที่มีข้อผู้มัดทางกฎหมายเป็นตัวควบคุม

นายฟูคุชิโร นูคากะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น , นายซี ซูเหริน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจีน , นายคัง แมน ซู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้หารือกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประเทศสเปนในระหว่างการประชุมประจำปีของเอดีบี และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ได้ตัดสินใจจะตั้งกองทุนมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งที่จะมีลักษณะคล้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ของภูมิภาค หลังจากที่ 13 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงสว้อปเงินในระดับทวิภาคีซึ่งได้ตั้งขึ้นมาเนื่องจากวิกฤติการเงินเอเชียเมื่อปี 2540-41 พยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำข้อตกลงกับไอเอ็มเอฟ เนื่องจากไอเอ็มเอฟมักต้องการให้ประเทศเหล่านี้ทำตามนโยบายเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟซึ่งมักเป็นนโยบายที่มีความแข็งกร้าวและไม่ได้รับความนิยม เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่เกิดวิกฤติการเงิน

การนำทุนสำรองต่างประเทศมารวมกันอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางการเงินซ้ำรอยขึ้นอีกครั้ง หรือป้องกันไม่ให้สกุลเงินของสมาชิกมีการเคลื่อนไหวไปในทางใดทางหนึ่งจนไม่สามารถยับยั้งได้

นายชิน เจ ยุน ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะแสดงให้โลกเป็นว่าเอเชียกำลังร่วมมือกันผลักดันให้เกิดเสถียรภาพทางการเงิน

ตามแถลงการณ์ของทั้ง 13 ประเทศ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้จะบริจาคเงินเข้ากองทุนประมาณ 80% ในขณะที่สมาชิกสมาคมประชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)จะสมทบเงินที่เหลือ และทั้ง 13 ประเทศจะบริจาคเงินให้กับกองทุนและจะยังคงบริหารทุนสำรองต่างประเทศของตนเองตามที่ได้จัดเตรียมไว้

กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ กล่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะมีการบริจาคเงินเท่าไหร่ และตามแถลงการณ์ร่วมจะเร่งหารือรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขในการกู้ยืม โดยได้ตกลงกันว่า จะจัดประชุมรัฐมนตรีคลัง เจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลด้านการเงิน และธนาคารกลางจาก 13 ประเทศภายในปีนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบต่อนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเสถียรภาพของตลาดการเงินได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน

เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังจากประเทศเหล่านี้ได้ตกลงกันว่าจะกันเงินทุนสำรองต่างประเทศที่มีอยู่รวมกัน 3.4 ล้านล้านดอลลาร์เอาไว้ส่วนหนึ่งสำหรับกรณีฉุกเฉินต่างๆ แต่ไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่หรือเมื่อไหร่ที่จะเริ่มตั้งกองทุนขึ้น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญที่จะให้มีการประชุมในระดับภูมิภาคเพื่อนำผู้กำหนดนโยบายผู้กับกับดูแล และเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางมาหารือร่วมกัน เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน คล้ายกับการประชุมเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ7 ประเทศ (จี7)

อย่างไรก็ตาม นาโอยูกิ ชิโนฮารา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ได้กล่าวเตือนก่อนการประชุมเมื่อสุดสัปดาห์ว่า จะต้องใช้เงินจากกองทุนที่ตั้งขึ้นมาด้วยความรับผิดชอบ

"เราไม่ต้องการให้มันเป็นกลไกที่ให้เงินง่ายๆ และประเด็นที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ว่าจะสร้างความแข็งแกร่งในการควบคุมดูแลอย่างไร"
กำลังโหลดความคิดเห็น