xs
xsm
sm
md
lg

เผยแนวโน้มเรื่องร้องเรียน สคบ.ลดลง เหตุมีการเคารพสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลขาธิการสถิติแห่งชาติเผยแนวโน้มการร้องเรียนจากผู้บริโภคมายังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลดน้อยลง เนื่องจากมีการเคารพสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น

นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องการร้องเรียนจากผู้บริโภคผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้แก่ เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณา สินค้าและบริการทั่วไป สัญญา / อสังหาริมทรัพย์ การขายตรงและตลาดแบบตรง ขณะนี้มีแนวโน้มอาจจะลดลง โดยในปี 2545 เรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครวมจำนวน 4,537 ราย และในปี 2550 มีเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 5,647 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5) แต่เมื่อเปรียบเทียบปี 2550 กับปี 2549 จะพบว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนลดลง (ลดลงร้อยละ 17.0) ซึ่งอาจเนื่องจากมีการรณรงค์ให้มีการเคารพสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น โดยเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุดในปี 2550 คือเรื่องเกี่ยวกับสัญญา/อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2,470 ราย รองลงมาคือ เรื่องเกี่ยวกับสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 2,046 ราย และเรื่องเกี่ยวกับโฆษณา จำนวน 1,131 ราย

ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้ผู้บริโภคที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือให้ผู้บริโภคได้รับค่าชดเชยความเสียหายตามสิทธิรวม 928 ราย หรือร้อยละ 13.6 จากเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 6,807 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณา ได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือมากที่สุด 369 เรื่อง (ร้อยละ 39.7) รองลงมาคือ เรื่องเกี่ยวกับสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 331 ราย (ร้อยละ 35.7) และเรื่องเกี่ยวกับสัญญา/อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 228 ราย (ร้อยละ 24.6)

ส่วนสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การร้องเรียนทุกเรื่องมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2547 มีการร้องเรียน 1,519 เรื่อง ลดลงเหลือ 1,473 เรื่อง ในปี 2550 (ลดลงร้อยละ 3.0) ทั้งนี้อาจเนื่องจากรัฐบาลให้ความสนใจในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้เรื่องสิทธิต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด ในปี 2550 คือ เรื่องเกี่ยวกับอาหาร 868 เรื่อง (ร้อยละ 58.9) ประเด็นที่มีการร้องเรียนเข้ามามาก เช่น การโฆษณาอาหารไม่ได้ขออนุญาต โฆษณาเกินจริง ร้านค้า / ห้างสรรพสินค้า จำหน่ายสินค้าหมดอายุ เครื่องดื่ม ไม่มี อย./สกปรก ฉลากอาหารไม่ชัดเจน /ไม่ถูกต้อง เป็นต้น รองลงมาคือ เรื่องเกี่ยวกับยา จำนวน 269 เรื่อง (ร้อยละ 18.3) เกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำนวน 146 เรื่อง (ร้อยละ 9.9) และอื่น ๆ จำนวน 190 เรื่อง (ร้อยละ 12.9)

นางธนนุช ยังกล่าวอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่ทราบถึงวิธีการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ถูกต้อง ขาดข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ และไม่สนใจที่จะเอาเรื่องกับผู้ประกอบธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้บริโภค รณรงค์ให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่นำออกจำหน่ายแก่ประชาชน ต้องมีการปิดฉลากอย่างถูกต้อง โฆษณาไม่เกินความจริง

ในด้านสัญญาก็ต้องไม่เอาเปรียบและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค และต้องมีการกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน ซึ่งการร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสของผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมีความระมัดระวังในเรื่องของการผลิต/จำหน่าย หรือโฆษณา รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องสร้างระบบสนับสนุนด้านข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ให้น่าสนใจ เข้าใจง่ายและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ เพื่อลดการถูกเอารัดเอาเปรียบและประชาชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น