xs
xsm
sm
md
lg

จี้ คปภ.แก้ปัญหาสัมพันธ์ฯ ขีดเส้นเพิ่มทุนก่อน 4 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริโภค จี้สำนักงานคปภ.แก้ปัญหาฐานะทางการเงิน “สัมพันธ์ประกันภัย” หลังปล่อยให้ยืดเยื้อเกือบ 1 ปี ขณะที่ คปภ. ขีดเส้นตาย 4 เม.ย.นี้ ต้องเพิ่มทุนให้เสร็จ ลั่นเกินกำหนดชงบอร์ดคปภ.ชี้ชะตา

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงานคปภ.) ว่า มูลนิธิเรียกร้องให้สำนักงานเร่งแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด หลังจากที่ได้สั่งให้หยุดขายกรมธรรม์ชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2550 ซึ่งทำให้ผู้บริโภค อู่ในเครือ พนักงาน ตัวแทน และ นายหน้าของบริษัทได้รับความเดือดร้อน เพราะบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินสินไหมทดแทน หนี้ค้างจ่าย รวมถึงเงินเดือน และค่านายหน้าให้ได้

“อยากให้แก้ปัญหาโดยเร็ว เพราะยืดเยื้อมานานแล้ว และยังปล่อยให้บริษัทหลอกลวงหลายครั้งว่าจะมีผู้ร่วมทุนมาใหม่ โดยจะเพิ่มทุน เติมเงินเข้ากองทุนให้ครบ และชำระหนี้ค้างจ่ายให้กับผู้เอาประกัน อู่ในเครือ พนักงาน ตันแทน และนายหน้า ให้เสร็จตั้งแต่เดือนส.ค.2550 แต่จนถึงขณะนี้ยังทำไม่ได้ ที่สำคัญยังส่งงบทางการเงินเท็จตั้งแต่เดือนมิ.ย.2549 มาให้คปภ. สมัยที่ยังเป็นกรมการประกันภัย พิจารณาฐานะทางการเงิน กว่าจะรู้ความจริงก็ล่าช้า ทำให้ในระหว่างนั้น บริษัทสามารถขายกรมธรรม์ใหม่ๆ ได้ จนทำให้มีกรมธรรม์ก่อนถูกสั่งหยุดขายชั่วคราวกว่า 900,000 ฉบับ สร้างความเดือนร้อนให้ประชาชนอย่างมาก” นายอิฐบูรณ์กล่าว

นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า หากภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ บริษัทยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตามที่สำนักงานคปภ.กำหนด จะยิ่งชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องในการทำงานของคปภ. ที่สำคัญ ยังทำให้เห็นว่า มาตรการเชิงบังคับของคปภ.ขาดความเข้มแข็ง ทำให้บริษัทที่มีปัญหาแข็งข้อ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ หากลูกค้าสัมพันธ์ประกันภัยไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิ และมูลนิธิจะเป็นตัวกลางประสานมายังสำนักงานคปภ.เพื่อติดต่อกับบริษัทต่อไป สำหรับลูกค้าบริษัทที่ร้องเรียนผ่านมูลนิธิขณะนี้มีประมาณ 100 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5 ล้านบาท

ด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคปภ. กล่าวว่า ภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ บริษัทสัมพันธ์ จะต้องยื่นแผนฟื้นฟูธุรกิจและให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่จัดส่งเงินเข้ากองทุนตามกฎหมาย แต่ในระหว่างนี้ บริษัทจะต้องชำระหนี้สินค้างจ่ายให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะสามารถเปิดขายกรมธรรม์ใหม่ได้

ก่อนหน้านี้ บริษัทแจ้งว่ามีบริษัทสนใจเข้าร่วมทุน 3 ราย แบ่งเป็นต่างประเทศ 1 ราย และในประเทศ 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบบัญชีและฐานะการเงิน ในส่วนกรณีที่สำนักงานคปภ.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และยกให้กรณีของบริษัทสัมพันธ์เป็นคดีพิเศษนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ

“หากเกินวันที่ 4 เม.ย.นี้ จะเสนอให้บอร์ดคปภ.พิจารณาถอนใบอนุญาต และปิดกิจการถาวร สาเหตุที่คปภ.ไม่เพิกถอนใบอนุญาต เพราะจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน เมื่อมีคำสั่งเพิกถอนต้องเข้าขบวนการตามกฎหมาย ใช้เวลานาน และผู้เสียหายจะได้รับเพียงไม่เกิน 20% ของมูลหนี้เท่านั้น และตลอดเวลา 10 เดือนที่สั่งหยุดขายกรมธรรม์ สำนักงานได้มีการติดตามและเร่งรัดให้บริษัทแก้ไขมาตลอด” นางจันทรากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น