xs
xsm
sm
md
lg

สพท.ฮึดสู้ทำตลาดแบบไดเร็กเซลล์ เคาะประตูบ้านผู้สร้างหนังขายโลเกชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพท.ลุยขยายตลาดฟิล์มโลเกชันแบบไดเร็กเซลล์ สบช่องออกงานเทรดโชว์ นัดผู้สร้างคุยถึงถิ่น ระบุ ระดับหัวหน้าลงพื้นที่เองหวังสร้างความเชื่อมั่นให้ชนะใจผู้สร้างภาพยนตร์ ซื้อเวลาจนกว่าจะผลักดันให้มีอินเซนทมีฟในด้านอื่น ล่าสุดลุยเปิดตลาดฮ่องกง มาเก๊าและจีนตอนใต้ ในงาน ฮ่องกง โลเกชันเวิลด์ พร้อมลุยต่อในงาน AFCI ที่อเมริกาในเดือนหน้า

นางธนิฎฐา มณีโชติ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว (สพท.) เปิดเผยว่า สพท.ได้ปรับแผนการทำงานเน้นเชิงรุกมากขึ้น โดยประเดิมกลยุทธ์ดังกล่าวที่งานฮ่องกง ฟิล์ม เฟสติวัน และงานฮ่องกง โลเกชันเวิลด์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะงานฮ่องกงโลเกชันเวิลด์ ที่เพิ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 สพท.ต้องการใช้ช่องทางนี้ นำเสนอโลเกชันในการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงบริการพีโพสต์โปรดักชันของประเทศไทยออกสู่ตลาดมาเก๊า และจีนตอนใต้

ทั้งนี้ ยังได้นัดคุยกับผู้สร้างภาพยนตร์ในฮ่องกง จีน มาเก๊า ด้วย โดยนำข้อมูลด้านการให้บริการของ สพท.ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ ความพร้อมของประเทศไทยและภาคเอกชนของคนไทย ตลอดจนภาพโลเกชันในสถานที่ต่างๆ ไปนำเสนอ เพื่อหวังสร้างความมั่นใจและโน้มน้าวให้ผู้สร้างเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ

“สพท.จะเดินกลยุทธ์แบบขายตรงไปนำเสนอเป็นรายบุคคลหรือรายบริษัท ทั้งโลเกชันบริการที่จะได้รับ และบริการพีโพสต์โปรดักชัน หากเขาเห็นว่า เรามีความพร้อมแบบครบวงจร ก็น่าจะตัดสินใจเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ขณะที่ภารกิจต่อไปของ สพท.คือ จะต้องผลักดันให้รัฐบาลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้อินเซ็นทีฟ กองถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อเป็นแรงจูงใจเพิ่มขึ้น เช่น การยกเว้นภาษี VAT เป็นต้น”

สำหรับ 2 เดือนแรกปีนี้ รายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย มีมูลค่าถึง 596 ล้านบาท จากหนังทั้งหมด 104 เรื่อง สูงกว่าปีก่อน 247% โดยปีก่อนในช่วงเดียวกัน ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจนี้ราว 171 ล้านบาท สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการเลิกประท้วงของผู้เขียนบทจากฮอลลีวูด ตลาดก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่หนังฟอร์มยักษ์ที่ชะลอการถ่ายทำออกไปก็ยังไม่มีกำหนดว่าจะเข้ามาถ่ายทำเมื่อใด ที่เข้ามาถ่ายทำสูงสุด คือ หนังโฆษณา 51 เรื่อง, สารคดี 31 เรื่อง, ละครทีวี 10 เรื่อง, มิวสิก วิดีโอ 6 เรื่อง และภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ 6 เรื่อง ประเทศที่เข้ามาใช้สถานที่สูงสุด คือ ญี่ปุ่น 35 เรื่อง อินเดีย 15 เรื่อง ประเทศในกลุ่ม ยุโรป 22 เรื่อง ที่เหลือเป็นประเทศอื่นๆ

**ทำตลาดแบบเคาะประตูถึงบ้าน****
ทางด้าน นางสาววรรณสิริ โมรากุล ผู้อำนวยการกองกิจการภาพยนตร์ กล่าวว่า สพท.จะใช้วิธีไดเร็กเซลล์ในทุกๆ ตลาด ที่ เดินทางไปเทรดโชว์และโรดโชว์ โดยจะนัดบริษัทผู้สร้างหนัง มาให้ข้อมูลรายละเอียด ซึ่งในงาน Association of Film Commissioners International หรือ AFCI Locations Trade Show 2008 ซึ่งเป็นงาน โลเกชันเทรดโชว์ ที่ใหญ่สุดในอเมริกา โดยจะจัดขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้ สพท.ก็ได้เตรียมทำนัดไว้กับผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูดไว้เช่นกัน

“มองว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในระดับผู้อำนวยการ หรือระดับหัวหน้า ลงพื้นที่ และให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิด จะทำให้ผู้สร้างหนังในต่างประเทศ เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น ว่า หากเขามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ก็เหมือนเป็นแขกพิเศษที่ภาครัฐจะคอยดูแลอำนวยความสะดวกให้”

สำหรับปีนี้มีประเทศใหม่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์มากขึ้น เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ส่วนหนังที่มาถ่าย เช่น ภาพยนตร์ มินิซีรีส์ซึ่งทำให้อยู่นานวันขึ้น จากดอดีตจะมาถ่ายเฉพาะหนังโฆษณาซึ่งใช้เวลาไม่กี่วัน ดังนั้น ในงาน AFTI กองกิจการภาพยนตร์ จำนำซีดี โลเกชันถ่ายทำภาพยนตร์ไปแจกจ่าย ให้ผู้สร้างได้เห็นในหลายๆ มุมของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สพท.ได้เตรียมเสนอแนวทางการส่งเสริมธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ต่อ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมหน่วยงานในวันนี้ (24 มี.ค.) ถึงการผลักดันให้เกิดโครงการมูฟวี่ ฟรีเทรดโซน หรือการสนับสนุนให้ต่างชาติ เข้ามาลงทุนในธุรกิจถ่ายหนัง เช่น การสร้างสตูดิโอ เป็นต้น ภาครัฐอาจต้องให้อินเซนทีฟเรื่องภาษี

โดยการหารือครั้งนี้ สพท.จะเสนอให้ รมว.วีระศักดิ์ ช่วยประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ดูเรื่องกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ด้วยว่าสมควรที่จะมีการแก้ไขให้เหมาะกับปัจจุบันได้อย่างไร โดยก่อนหน้านี้สพท.ได้หารือในระดับเจ้าหน้าที่ของบีโอไอ เพื่อให้เข้าใจตรงกันในระดับหนึ่งแล้ว เบื้องต้นเสนอไว้ 2 แนวทาง ได้แก่ เสนอเป็นเรื่องใหม่ของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา หรือให้บีโอไอเพิ่มประเภทการส่งเสริม ซึ่งจะใช้เวลาเร็วกว่าอย่างแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น