ปตท.ลั่นตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ถึงวันที่ 12 มี.ค.นี้ เพื่อขอดูมติบอร์ด กพช. ก่อนตัดสินใจอีกครั้ง แย้มมีสำรองปริมาณน้ำมันดีเซลอีกเยอะ ยืนยันไม่ขาดตลาดแน่นอน แม้จะมีผู้ใช้น้ำมันแห่มาเติมเพิ่มขึ้นหลายเท่า พร้อมระบุ 2 สัปดาห์ขาดทุนไปแล้ว 3 พันล้านบาท
วันนี้ (11 มี.ค.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาวะราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของ ปตท.ที่ต่ำกว่าผู้ค้ารายอื่นถึงลิตรละ 50 สตางค์ โดยขายอยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ปตท.ขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำมันดีเซลของ ปตท.ยังมีเพียงพอจำหน่ายให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนถึงวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่ง ปตท.จะตัดสินใจหลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติในเรื่องมาตรการลดผลกระทบราคาน้ำมันออกมา
“ผมขอยืนยันว่า ปตท.จะไม่ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขณะนี้อย่างแน่นนอน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เพราะจะรอผลการประชุม กพช.ก่อน”
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าภาระขาดทุนจากค่าการจำหน่ายน้ำมันทุกชนิดของบริษัท ปตท. ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากราคาแท้จริงที่ค่าการตลาดลิตรละ 1.50 บาท ทั้งเบนซินและดีเซล จะต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันขึ้นลิตรละ 1 บาท มีผลทำให้ ปตท.รับภาระขาดทุนเป็นเงิน 2-3 พันล้านบาทไปแล้ว
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า มาตรการของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้ทำให้ราคาดีเซลปรับลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง มาตรการนี้เป็นเพียงการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนชั่วคราวเท่านั้น ส่วนราคาเบนซินจะเป็นอย่างไรนั้นจะขอติดตามในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันในตลาดโลกอีก 1-2 วัน
นายธีรพจน์ วัชราภัย ประธานกรรมการบริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการชดเชยดีเซลไม่ให้สูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ควรชดเชยในบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคการประมงและภาคขนส่ง ที่มีผลต่อราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ส่วนแนวทางการชดเชยน่าจะนำวิธีการในอดีตมาใช้ ที่นำกำไรจากโรงกลั่นน้ำมันปีละ 1 หมื่นล้านบาท มาชดเชยราคาน้ำมันให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความจำเป็น
นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ค่าการตลาดดีเซลของบางจากติดลบ 40 สตางค์ต่อลิตร เบนซินอยู่ที่ 85-90 สตางค์ต่อลิตร หากจะให้คุ้มทุน ดีเซลควรมีค่าการตลาด 1.50 บาทต่อลิตร เบนซิน 1.50-1.80 บาทต่อลิตร
นายยอดพจน์ กล่าวว่า หากจะให้ดีเซลสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ราคาขายปลีกดีเซลต้องอยู่ที่ 31 บาทต่อลิตร หรือปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ภาพรวมผู้ค้าน้ำมันต้องแบกต้นทุนดีเซลวันละ 50 ล้านบาท