xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมทัพใหม่ 2 บิ๊กค่ายเพลง GMM - RS ประกาศความพร้อมเปิดศึกรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * 2 ค่ายเพลงยักษ์ตั้งหลักพร้อม เดินหน้าลุยธุรกิจบันเทิงรอบใหม่

* แกรมมี่ ประกาศยืดหยัดในตลาดเพลงที่ถนัด วางโมเดล Total Music Business ชูกลยุทธ Singing, Listening & Watching Business พาสู่เป้าหมาย 8 พันล้านบาท

* อาร์เอส มั่นใจเส้นทาง Entertainment & Sport Content Provider มาถูกทิศในการทำธุรกิจสมัยใหม่ เป้าหมายรายได้ 3.1 พันล้านบาท จะสร้างกำไรได้สูงถึง 30%


หลังผ่านพ้นมรสุมแห่งเทคโนโลยีที่เคลื่อนผ่านประชากรชาวโลก เปลี่ยนพฤติกรรมให้นักฟังเพลงทั่วโลก รวมไปถึงผู้ฟังชาวไทย หยุดการบริโภคเสียงเพลงจากแผ่นซีดี หันไปหาไฟล์เพลงที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีบนโลกอินเทอร์เน็ต ส่งผลกระทบให้ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ที่มีรายได้หลักอยู่กับการจำหน่ายคอนเทนต์เพลงผ่าน Physical Product ทั้งเทป ซีดี วีซีดี และดีวีดี ต่างซวนเซไปกับรายได้ที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องมาหลายไตรมาส

แต่วันนี้ทั้ง 2 บริษัทต่างประกาศความพร้อมของแผนงานในการขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกแห่งธุรกิจบันเทิงยุคใหม่ที่พลิกรูปแบบการจากตลาดที่เคยเกิดจากการนำเสนอสินค้าของผู้ผลิต เปลี่ยนไปเป็นตลาดที่มองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ในแนวทางที่เริ่มมีความต่างกันไปในแนวคิดอยู่บ้าง

แกรมมี่ยืดหยัดธุรกิจเพลง
ชูกลยุทธ Total Music Business


ยักษ์ใหญ่หมายเลข 1 ในธุรกิจเพลงของประเทศไทย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เคยยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ก้าวแรกของการทำธุรกิจ ผ่านความเปลี่ยนแปลงในโลกการตลาดมากว่า 2 ทศวรรษ ยืนเหนือคู่แข่งที่เคยยิ่งใหญ่ในธุรกิจรุ่นแล้วรุ่นเล่า อย่าง นิธิทัศน์ อาร์เอส หรือแม้แต่ค่ายเพลงอินเตอร์อย่าง อีเอ็มไอ,โพลิดอร์,โซนี่ มิวสิค, ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ที่เคยแวะเวียนเข้ามาทำตลาดเพลงไทย ก็ต่างไม่อาจทานความแข็งแกร่งของแกรมมี่ได้ แต่สุดท้ายผู้ที่มาสั่นสะเทือนความยิ่งใหญ่ของแกรมมี่ได้ ก็คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) คิดอยู่เสมอถึงเหตุการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดครั้งหนึ่ง องค์กรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค 2 ปีก่อนกลับมีกำไรจากการดำเนินงานในรอบไตรมาส เพียง 5 แสนบาท และมีกำไรตลอดปีแค่ 200 ล้านบาท พนักงานระส่ำระส่ายกับตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่มีความมั่นคง ข่าวการปลดพนักงานต่อเนื่องมาเป็นระลอก แต่เมื่อสามารถวางโมเดลธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ทุกครั้งที่ไพบูลย์มีโอกาสพบปะสื่อมวลชน เขาจะเผยถึงเป้าหมายลึก ๆ ว่า ความรุ่งเรืองของแกรมมี่กำลังจะกลับมา

แนวทางธุรกิจใหม่ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่ไพบูลย์วางไว้ถูกแบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มเพลง ในการดูแลของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และกลุ่มสื่อ ในนาม จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ทั้ง 2 ส่วนจะร่วมกันสร้างรายได้ 8,000 ล้านบาทให้กับองค์กรในปีนี้ ในสัดส่วน 56% ต่อ 44%

ไพบูลย์ยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจเพลงยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเดินหน้าที่สดใส ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการมองทิศทางการตลาดไม่ถูกต้อง เมื่อวันนี้แกรมมี่มีความกระจ่างชัดในการทำธุรกิจเพลง เปลี่ยนเทคโนโลยีที่เคยสร้างวิกฤติให้กับองค์กร กลายเป็นโอกาสให้คอนเทนต์เพลงของแกรมมี่เข้าถึงผู้ฟังได้กว้างขึ้น บ่อยขึ้น ทุกที่ยิ่งขึ้น สร้างรายได้ให้มากขึ้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะปรับธุรกิจไปไหน

3 ปัจจัยหลักที่ไพบูลย์ มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ธุรกิจเพลง 4,000 ล้านบาทในปีนี้ ประกอบด้วย การมีโอกาสทางการตลาดที่มากขึ้น เพราะตลาดเพลงเติบโตขึ้น ทั้งในส่วนผู้บริโภคที่สามารถฟังเพลงมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และในส่วนของภาคธุรกิจที่เพลงได้กลายเป็นอาวุธสำคัญทางการตลาด

ความพร้อมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในการเป็น Total Music Company ที่มีแพลทฟอร์มครบทุกด้าน ทำให้ศิลปินต่างไว้วางใจให้แกรมมี่ดูแลบริหารสิทธิ์ครบทุกด้าน มีศิลปินมากที่สุด และมีคลังเพลงใหญ่ที่สุด เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

และปัจจัยที่สำคัญในการทำตลาดในวันนี้ คือการปรับโครงสร้างการหารายได้ด้วยกลยุทธที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค และความต้องการของคู่ค้า ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ Singing, Listening & Watching Business, Segment Market และ Subsidize Marketing

"เรามองโมเดลการหารายได้จากรูปแบบTotal Music Business มาราว 2-3 ปี เพราะนอกจากรายได้จาก Physical Product ที่เคยเป็นรายได้หลักในอดีตที่เริ่มถูกสื่อดิจิตอลแบ่งส่วนแบ่งไป การหารายได้จากธุรกิจเพลงส่วนอื่น ๆ ทั้ง ดิจิตอล โชว์บิซ การบริหารลิขสิทธิ์เพลง การบริหารศิลปิน ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่มีข้อดีคือการเป็นโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำกว่า Physical จึงทำให้กำไรของธุรกิจเพลงโดยรวมสูงขึ้นด้วย"

ทั้งนี้ แหล่งรายได้จากโมเดล Total Music Business ที่ประกอบด้วย Listening Business หมายถึงการสร้างรายได้จากการที่เพลงถูกนำไปเปิดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งสถานีวิทยุ ร้านอาหาร โรงพยาบาล สายการบิน และการนำเพลงไปใช้ในรูปแบบมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง เช่น การบันเดิลลงโทรศัพท์มือถือ ไอพอต หรือขายตรงบนอินเทอร์เน็ต Watching Business เป็นการสร้างรายได้จากโชว์บิซ ที่สามารถสร้างรายได้ต่อยอดไปในอีกหลายช่องทาง ทั้งการจำหน่ายบัตร วีซีดี ดีวีดี อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี Singing Business เป็นการสร้างรายได้จากคาราโอเกะSegment Marketing มีการปรับกลุ่มเพลงจากเดิมเป็นกลุ่มสตริง และลูกทุ่ง เปลี่ยนเป็น 6 กลุ่มหลักที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคที่เป็นไปตามรสนิยมการฟังเพลง ประกอบด้วย Teen Idol, Pop Idol, Rock, Vintages, Niche Market และ Country

ขณะที่แนวคิด Subsidize Marketing คือการสร้างรายได้จากการใช้เพลงเป็นเครื่องมือสนับสนุนกลยุทธการตลาดของลูกค้าพันธมิตร โดยการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เอ็กคลูซีฟ ภายใต้แนวคิด Money can't buy เหมือนการทำธุรกิจ B2B ซึ่งไพบูลย์มองว่าแนวคิดนี้จะสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทจากดิจิตอล คอนเทนต์

โมเดล Total Music Business เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2549 เคยเป็นสัดส่วนรายได้ 40% ของธุรกิจเพลง ที่ยังเป็นรองรายได้จาก Physical ถึงราว 20% แต่วันนี้ Total Music Business กลับสามารถสร้างรายได้ครึ่งหนึ่งให้กับธุรกิจเพลง 4,000 ล้านบาทของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

"ปีนี้โอกาสทางธุรกิจเพลงของแกรมมี่มีมากขึ้น ค่ายโทรศัพท์มือถือต่างก็ซื้อเพลงของเราไปใส่ไว้ในโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นอาวุธทางการตลาดที่สำคัญของเขา บริษัทธุรกิจชั้นนำต่างมาร่วมงานกับเรา ถือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ทั้งธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร โดยมีเพลงเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะแกรมมี่มีสิ่งนี้มากที่สุดในประเทศ เรามีคลังเพลง มีนักร้องมากที่สุด มีผลงานออกมามากที่สุด เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ผมก็เชื่อว่าเราจะสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมแน่นอน"

จีเอ็มเอ็ม มีเดีย มองเป้า 3.5 พันล.
มุ่งสร้างแบรนด์เด่นเหนือคู่แข่ง


ในอีกส่วนสำคัญของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เครือข่ายของสื่อที่บริษัทดูแลอยู่ในนาม จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ครอบคลุมธุรกิจในการสื่อสารการตลาดครบวงจร ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และอีเวนต์ ไพบูลย์ ก็มองเห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่ทุกสื่อมีความพร้อมสูงสุด เส้นทางที่จะสร้างความสำเร็จในด้านรายได้ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ 3,500 ล้านบาท เขามองว่า จำเป็นต้องจะต้องสร้างให้แต่ละแบรนด์ที่อยู่ภายใต้จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ให้ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจผู้บริโภคให้ได้ เพื่อนำมูลค่าเพิ่มของแบรนด์ไปต่อยอดรายได้

ธุรกิจทีวี จีเอ็มเอ็ม มีเดีย มี 3 แบรนด์แกร่งที่ถือเป็นผู้ผลิตรายการในระดับแนวหน้าของประเทศ ทั้ง เอ็กแซ็ค ที่มุ่งไปที่การผลิตละครโทรทัศน์ และซิทคอม จีเอ็มเอ็มทีวี แบรนด์แกร่งด้านรายการวาไรตี้ เกมโชว์ และดี ทอล์ค ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการเรีลลิตี้ ทอล์คโชว์ ของสัญญา คุณากร ต่างก็มีการเติบโตที่น่าพอใจ แบรนด์แกร่งอย่างเอ็กแซ็คมีการต่อยอดเข้าสู่การผลิตละครเวทีจนได้รับความเชื่อถือมานาน ขณะที่จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ก็มีการขยายธุรกิจสู่การผลิตละครวัยรุ่นป้อนตลาด แม้สภาพตลาดของสื่อโทรทัศน์โดยรวมจะตกต่ำ แต่จีเอ็มเอ็ม มีเดีย คาดการณ์ว่าสื่อโทรทัศน์ของตนจะมีการเติบโตกว่า 8% ทำรายได้ราว 1,300 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในส่วนของสื่อวิทยุ เอไทม์มีเดีย ที่มีความแข็งแกร่งอยู่ในธุรกิจ นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีมานำเสนอ โดยเปิดวิทยุอินเทอร์แอคทีฟบนอินเทอร์เน็ต ในชื่อ iradio เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ให้กับผู้ฟังเพลงแล้ว ในส่วนของการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิด ยกระดับสื่อวิทยุให้สามารถอินเทอร์แอคกับผู้ฟังได้โดยตรง โดยใช้ความแข็งแกร่งของแบรนด์เอไทม์ ทำธุรกิจโชว์บิซ และเปิดบริษัทนำเที่ยว ก็ถือเป็นทิศทางในการต่อยอดที่น่าสนใจ โดยในปีนี้สื่อวิทยุคาดว่าจะทำรายได้ราว 750 ล้านบาท วางเป้าหมายเติบโตท้าทายตลาด 10%

ส่วนธุรกิจสิ่งพิมพ์ นิตยสารหัวนอกที่ดูแลอยู่หลายหลายหัว มีการตั้งเป้าเติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดสิ่งพิมพ์โดยรวมอยู่ในภาวะตกต่ำ คาดว่าจะมีรายได้ราว 250 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจอีเวนต์ ในนาม อินเด็กซ์ อีเวนต์ เอเยนซี ที่ครองความเป็นผู้นำอยู่ในธุรกิจอีเวนต์ไทย จะมีรายได้ราว 1,200 ล้านบาท ไพบูลย์มั่นใจอย่างยิ่งกับโครงสร้างกองทัพทางธุรกิจใหม่ ที่ให้เวลาปรับแต่งราว 2 ปี ว่าจะนำแกรมมี่กลับมาสู่ความรุ่งเรืองได้อีกครั้งอย่างแน่นอน

อาร์เอสสลัดภาพค่ายเพลงไทย
ก้าวสู่เวทีบันเทิง กีฬา สร้างผลกำไรงาม

เรื่องการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคที่ส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจเพลงของตน อาร์เอส และสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ดูจะตื่นตัวก่อน ค่ายเพลงวัยรุ่น ศิลปินสีลูกกวาดกับอัลบั้มเพลงที่ติดหูชุดละ 2-3 เพลง ส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรง วัยรุ่นเลือกที่จะดาวน์โหลดเฉพาะเพลงที่ชอบจากอินเทอร์เน็ต แทนการซื้อซีดีทั้งอัลบั้ม ทำให้สุรชัย ต้องปรับไดเรคชั่นของธุรกิจจากค่ายเพลงที่มีรายได้จากการขาย Physical Product ไปสู่ผู้ให้บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง และกีฬา ที่สามารถนำไปสร้างรายได้ผ่านทุกช่อง

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) เดินแนวทางในการก้าวสู่ไดเรคชั่นใหม่ในการทำธุรกิจด้วยการดึงมืออาชีพในแต่ละด้านเข้ามาร่วมงานแบบยกมาทั้งบริษัท ทั้งมือโชว์บิซ อย่าง บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ กับบริษัท อาร์เอส ไอดรีม วินิจ เลิศรัตนชัย กับบริษัท อาร์เอส เฟรชแอร์ บิ๊กในวงการกีฬา วรวุฒิ โรจนพานิช กับบริษัท อาร์เอสบีเอส หรือเจ้าของสื่ออย่างวิญญลักษณ์ โสรัต กับบริษัท อาร์เอสอินสโตร์ มีเดีย ล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่สุรชัยนำมาผนวกกับความเชี่ยวชาญที่อาร์เอสมีอยู่เดิมทั้งงานเพลง โทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ และสิ่งพิมพ์ ต่อขึ้นเป็นรูปโฉมใหม่ให้กับอาร์เอส

น่าเสียดายที่แนวทางใหม่ที่สุรชัยวางไว้ ก้าวเท้าไปปีแรกกลับพบกับสารพัดปัญหาทั้งจากภายใน และภายนอกองค์กร กระหน่ำให้แผนงานที่วางไว้สะดุดงานแล้วงานเล่า อีเวนต์ใหญ่ต้องยกเลิก 3-4 รายการ งบโฆษณาจากลูกค้าหดหายจากสภาพเศรษฐกิจ ภาคราชการหยุดการใช้จ่าย คลื่นวิทยุหลุดหาย ส่งผลให้รายได้ที่วางไว้ 3,200 ล้านบาท หดเหลือเพียง 2,500 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

แต่สุรชัย ก็ยังเชื่อมั่นว่า การปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจจากค่ายเพลงมาสู่ผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ความบันเทิง และกีฬา เป็นไดเร็คชั่นที่เดินมาถูกต้องแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้องค์กรอาร์เอสต้องถอยทัพ ชะลอ หรือหยุดนิ่ง หากแต่ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรพร้อมรับมือกับทั้งการแข่งขัน และปัญหาอื่น ๆ ที่เชื่อว่าจะมีเข้ามาอีก โดยมั่นใจว่าไดเร็คชั่นนี้จะสร้างอนาคตให้กับอาร์เอสในระยะยาวให้วิ่งคู่ไปกับความต้องการของผู้บริโภค และกระจายความเสี่ยงขององค์กรที่จะไม่พึ่งพารายได้จากแหล่งเดียวเหมือนดังเช่นธุรกิจค่ายเพลงที่อาร์เอสดำเนินมาตลอด 25 ปี หากแต่ 8 ธุรกิจที่มีอยู่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับองค์กรในแนวทางที่ต่างกัน แต่ก็สามารถเกื้อหนุนซินเนอยีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันได้

สุรชัยวางเป้าหมายรายได้ของอาร์เอสในปี 2551 ว่า จะมีรายได้ 3,100 ล้านบาท โดยถือเป็นตัวเลขในระดับพอเพียงซึ่งสะท้อนปัจจัยลบที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ไว้แล้ว โดยในธุรกิจคอนเทนต์ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มย่อย จะสร้างรายได้ราว 2,300 ล้านบาท โดยมีที่มาจากธุรกิจเพลง ราว 870 ล้านบาท ซึ่งจะวางอัลบั้มราว 200 อัลบั้มต่อปี เน้นคุณภาพของผลงานมากกว่าปริมาณ และขยายเซกเมนต์ของผู้ฟังออกไปให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม นอกเหนือจากศิลปินวัยรุ่นที่เป็นจุดเด่นของบริษัทแล้ว ยังมีกลุ่มลูกทุ่งอย่าง บิว กัลยาณี บ่าววี โปงลางสะออน หรือศิลปินคุณภาพอย่าง พัชริดา เจนิเฟอร์ คิ้ม ซิลลี่ฟูล ฯลฯ

ในส่วนธุรกิจโชว์บิซ ตั้งเป้ารายได้ 600 ล้านบาท ประกอบด้วยคอนเสิร์ตใหญ่จากอาร์เอส 3-4 รายการ อีเวนต์ของอาร์เอสเฟรชแอร์ 6-7 รายการ และโชว์ใหญ่จากต่างประเทศ 1-2 รายการภายใต้การดูแลของอาร์เอสไอดรีม ด้านธุรกิจภาพยนตร์ ตั้งเป้าไว้ราว 300 ล้านบาท ส่วนธุรกิจกีฬา ซึ่งปีนี้มีไฮไลท์อยู่ที่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2008 รวมถึงการเปิดบริการสนามฟุตบอลในร่ม เอสวัน ก็น่าจะทำรายได้ให้มากกว่า 500 ล้านบาท

ขณะที่รายได้จากธุรกิจการบริหารสื่อ ที่ประกอบด้วย 4 สื่อหลัก จะสามารถสร้างรายได้ในปีนี้ได้มากกว่า 700 ล้านบาท ประกอบด้วย สื่อรายการโทรทัศน์ 200 ล้านบาท มีรายการโทรทัศน์อยู่ในการดูแล 11 รายการ สื่อรายการวิทยุ 300 ล้านบาท จากการบริหาร 2 สถานีหลัก Max 94.5 Digital Radio และ Cool 93 Fahrenheit สื่อสิ่งพิมพ์ ราว 70-80 ล้านบาท และสื่อภายในโมเดิร์นเทรด ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของอาร์เอส คาดว่าจะมีรายได้ราว 125-130 ล้านบาทในปีนี้

"เชื่อมั่นว่าปีนี้เป็นปีที่อาร์เอสได้เดินหน้า จะเป็นปีของการเก็บเกี่ยวจากสิ่งที่ได้เริ่มต้นในปีที่ผ่านมา รายได้ที่คาดการณ์ไว้เป็นตัวเลขในเชิง Conservative ที่ประเมินจากแนวโน้มในเชิงลบจากรอบด้านที่อาจเกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกประเทศแล้ว ซึ่งในส่วนของนโยบายในการรับมือ อาร์เอสก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีความเหมาะสมที่สุด ลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็น จัดการกับธุรกิจที่ไม่มีอนาคต หรือไม่เอื้อต่อแนวทางการซินเนอยี่ธุรกิจกิจระหว่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อาร์เอสดำเนินการมาโดยตลอด อย่างน้อยแม้ตัวเลขรายได้จะไม่เป็นไปตามเป้า แต่ตัวเลขกำไรของปี 2550 ก็มีอัตราสูงถึง 25% ของรายได้ คาดว่าในปีนี้จะสามารถขยายกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 30% แน่นอน"
กำลังโหลดความคิดเห็น