xs
xsm
sm
md
lg

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” นักกฎหมายที่ขอยึดหลักรัฐศาสตร์ในการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รับตำแหน่งกันไปหมาดๆ สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวคนใหม่ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์”นับเป็นรัฐมนตรีลำดับ ที่ 5 ของกระทรวงนี้ หลังจากที่ตั้งกระทรวงมาได้เข้าปีที่ 6 ที่น่าจับตามองคือ ตามประวัติของ รมว.ท่านนี้ เป็นนักกฎหมายและนักวิชาการ ด้วยดีกรี นิติศาสตร์บัณฑิต(เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ LLM นิติศาสตร์มหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด,สหรัฐอเมริกา ขณะที่เราจะมองว่า ภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือการตลาดและการพัฒนา

จากประเด็นดังกล่าว พณฯท่าน รมว.วีระศักดิ์ ได้ให้ความกระจ่าง ถึงแนวทางการทำงานในกระทรวงการท่องเที่ยวฯนี้ว่า การทำงานเรื่องท่องเที่ยวต้องอย่าเป็นพระเอกคนเดียว เพราะ ท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวง แถมยังต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนนโยบาย ดังนั้น การทำงานจะต้องอยู่บนเหตุและผลที่เหมาะสม รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดย ตำแหน่งรัฐมนตรี มาจากภาคการเมือง เมื่อมานั่งตรงนี้ จะขอเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้นโยบายของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่เขียนไว้ เห็นผลโดยเร็ว สิ่งใดที่เหมาะสมก็จะสนับสนุนส่งเสริม หากไม่เหมาะก็หารือปรับแก้ไข

การทำงานจะเน้นหลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกระทรวงใหม่ จึงมี กฎหมายหลายฉบับ ที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไข และเตรียมจะประกาศใช้ เช่น ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.... ที่จะดูร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึง พ.ร.บ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 ที่เพิ่งประกาศใช้แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่ จะต้องรู้หลักของกฎหมายและการนำไปใช้ให้ถ่องแท้ ซึ่งตรงนี้มั่นใจว่าความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทางด้านนิติศาสตร์จะเข้ามาช่วยได้เป็นอย่างดี

ส่วนแนวทางการบริหารงานสาธารณะ ตามหลักการของ พณฯท่าน รมว.วีระศักดิ์ กล่าวไว้ว่า ถือหลักการให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าอวดเก่ง ไม่ล้วงลูกก้างก่ายหน้าที่ หรือทำงานแบบสั่งการโดยใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ ซึ่งผลสุดท้ายจะต้องล้มเหลว การตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน(ก.ร.อ.) เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะใช้เวทีนี้เพื่อรับฟังปัญหาของทุกภาคส่วน ทั้ง ราชการ เอกชน และชุมชน

สำหรับปัญหาความขัดแย้ง ที่เรื้องรังมานานระหว่างรัฐ และเอกชน ,รัฐกับชุมชน หรือในกลุ่มเอกชนด้วยกันเอง ต้องมีระบบการจัดการที่ดีอย่าให้ปัญหานี้มาทำให้ปวดหัว เราต้องสร้างความรู้สึกให้เกิดแก่คนในอุตสาหกรรมนี้ว่า เราทำงานกับเขาได้ ซึ่งตรงนี้ถ้าทำสำเร็จเราก็จะได้เครือข่าย กระบวนการตรงนี้ จะใช้หลัก 2 ข้อ คือ ยอมรับข้อจำกัดของกันและกัน และ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อได้เครือข่ายแล้ว การแก้ไขข้อขัดแย้งก็จะทำได้ง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น