“หมัก” ตีปี๊บทำรถไฟฟ้า 9 สายทันที ชี้ระบบขนส่งมวลชนล้าหลังมากว่า 30 ปีแล้ว “สันติ” ยันแผนก่อสร้างรถไฟฟ้า ต้องเป็นหนึ่งเดียว สั่ง สนข.-รฟม.-ร.ฟ.ท.ร่วมหารือสรุปแนวเส้นทางแดง-ม่วง-น้ำเงิน-เขียว คาดทุบโต๊ะทันที 13 ก.พ.นี้ “สหัส” ยันไม่คิดตัดทิ้งรถไฟฟ้าสายเดิม โดยพร้อมนำแนวเส้นทางของนายกฯ นำมาประยุกต์ เพื่อให้ได้โครงข่ายที่ดีที่สุด พร้อมแนะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต้องยึดประโยชน์ประชาชน และดูความพร้อมด้านการเงินด้วย ขณะที่ ขสมก.พร้อมปรับ 160 เส้นทาง สอดรับผังแนวรถไฟฟ้า
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการผลักดันนโยบายขนส่งมวลชนโดยเฉพาะรถไฟฟ้า 9 สาย โดยระบุว่า ตนเองจะเดินหน้าแก้ปัญหาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นรูปธรรม หลังจากที่เห็นว่าล่าช้ามา 30 ปี โดยเน้นขยายเส้นทางออกไปยังชานเมือง เนื่องจากประชาชนจะได้รับประโยชน์มาก ซึ่งจะเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟฟ้าออกไปทุกภูมิภาค เช่น ขยายเส้นทางจากหมอชิตไปลำลูกกา บางใหญ่ อ้อมน้อย และบางปู เส้นทางละ 30 กิโลเมตร โดยน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี
นายสมัคร กล่าวอีกว่า ในส่วนของวงแหวนรอบใน จะมีการขยายเส้นทางรถไฟใต้ดิน 40 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง
**สันติ เตรียมทุบโต๊ะสรุป 13 ก.พ.นี้
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 9 สายตามนโยบายของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ ตนเองจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ประกอบด้วย องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาหารือร่วมกันถึงการกำหนดแนวทางร่วมกันในการผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า
โดยในส่วนของเส้นทางที่ได้เริ่มขั้นตอนการประกวดราคาไปแล้ว คือ สายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่กำลังเตรียมการประกวดราคาให้ดำเนินการต่อไปเพื่อให้สามารถประกวดราคาได้เร็วที่สุด ส่วนสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่อยู่ระหว่างแผนการประกวดราคาก็ให้ดำเนินการต่อไปเช่นกัน และย้ำว่าจะไม่เข้าไปรื้อโครงการเพราะไม่ต้องการให้กำหนดการเดิมช้าออกไปอีก
ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น จะหารือร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ผลตอบแทน และความคุ้มทุนจากการลงทุน และเน้นว่าทุกเส้นทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สะดวกในการเร่งรัดติดตามความคืบหน้าของโครงการ
นอกจากนี้ ตนเองจะเริ่มตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในส่วนอื่นๆ หลังรัฐบาลแถลงนโยบาย เพื่อรับฟังนโยบายและความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันนโยบายที่มีความสำคัญให้มีความคืบหน้า นายสันติ กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.พ.นี้จะมีการหารือร่วมกับทางรฟม.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวมถึง ร.ฟ.ท.เพื่อให้ทุกหน่วยงานมาหารือร่วมกันเพื่อปรับแผนให้เส้นทางสอดรับกันและมีเส้นทางใดที่ต้อง ปรับปรุง
นายสันติ ยังกล่าวถึงการป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม โดยยืนยันว่าจะทำงานด้วยความโปร่งใส และพร้อมให้การตรวจสอบ พร้อมย้ำว่าตนและครอบครัวไม่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับเหมาก่อสร้างเพราะเลิกประกอบกิจการมาได้ 20 ปีแล้ว
**ขสมก.พร้อมปรับ 160 เส้นทาง
นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกับสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและการจราจร หรือ สนข.เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้าที่รัฐบาลจะดำเนิน 9 เส้นทาง โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางทั้งหมด 160 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พร้อมทั้งทำจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งโดยรวมเป็นสถานีขนาดใหญ่ 12 แห่ง จากปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 แห่ง คือ สถานีบางซื่อ และมักกะสัน โดยจะเร่งสรุปแผนทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
**ยันไม่ทิ้งของเดิม พร้อมผสมทุกแนวทาง
นายสหัส บัณฑิตกุล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งมวลชน กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานก่อสร้างรถไฟฟ้า คงจะเป็นลักษณะของการนำแผนแม่บทโครงการรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม กับโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทางตามดำริของนายกรัฐมนตรี มาบูรณาการร่วมกัน แล้วจัดทำเป็นแผน และวางโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์และครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญในการทำโครงการระบบขนส่งมวลชน ที่ต้องทำให้มีเส้นทางเชื่อมต่อกันให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า แนวคิดในการทำโครงการรถไฟฟ้านั้น ทางรัฐบาลชุดนี้นั้นคงไม่ได้คิดที่จะเข้ามารื้อแผนงานเดิมทิ้ง ส่วนไหนที่เป็นนโยบายดีอยู่แล้วก็พร้อมที่จะเดินหน้า และผลักดันต่อ โครงการใดที่เดินหน้าถึงตอนการประกวดราคาก็คงต้องเดินต่ไปตามระเบียบพัสดุ แต่ส่วนไหนที่ไม่ดีก็สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นได้ และยังคงยืนยันว่าโครงการรถไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง และสายสีเขียว ยังคงเป็นโครงการที่อยู่ในใจที่รัฐบาลอยากจะผลักดัน เนื่องจากเป็นโครงการที่ถือเป็นเส้นทางหลัก ที่มีความจำเป็นสูง แต่ในขณะเดียกวันก็คงต้องเอาเส้นทางทั้ง 9 เส้นทางที่เป็นดำริของนายกรัฐมนตรีมาพิจารณาควบคู่ไปด้วย
“ดูแล้วแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้า 9 สายที่นายกดำริขึ้นมา และโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทที่มีอยู่เดิมไม่ได้เปแนเส้นทางที่ขัดกัน แต่จะเป็นเส้นทางที่ช่วยเสริมให้ระบบโครงข่ายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มีการเชื่อมโยงกันสมบูรณ์ขึ้น และมีแนวเส้นทางที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณา” นายสหัส กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เมื่อสามารถนำแผนงานทั้ง 2 แผนงานมาบูรณาการให้เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ก็คงจะต้องมีการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ โดยเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณา คือต้องดูว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรมากที่สุด ซึ่งต้องมุ่งเน้นไปที่ผลระยะยาว แต่ถ้าหากดูในระยะยาวแล้วเห็นว่าต้นทุนสูง อาจจะยังทำไม่ได้ ก็ต้องมาดูในระยะกลาง แต่รัฐบาลชุดนี้คงจะมองแผนงานในระยะยาวมากกว่าที่จะมองระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มองประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแล้ว ต่อมาก็ต้องมาพิจารณาดูถึงเรื่องของของงบประมาณ เงินลงทุน ซึ่งคิดว่าคงจะใช้เงินกู้ต่างประเทศส่วนหนึ่ง เงินกู้ในประเทศส่วนหนึ่ง เงินงบประมาณส่วนหนึ่ง เงินกองทุนน้ำมันที่เคยพูดถึงกันน้น ก็อาจจะมีบางส่วนที่ถูกดึงมาใช้ในการลงทุนรถไฟฟ้า แต่ไม่มาก เนื่องจากในขณะนี้ราคาน้ำมันยังแกว่งอยู่ ต้องมีการกันเงินสำรองไว้ด้วย คงไม่สามารถนำมาใช้ได้เป็นจำนวนมาก และอาจจะมีจากส่วนอื่นมาช่วยเสริมอีก ซึ่งตรงนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ ในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้านั้น จะต้องมองให้รอบบด้าน นอกจากจะดูถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชน เช่น เรื่องผลกระทบการเวนคืนที่ดิน ดูผลประโยชน์ที่จะได้รับแล้วยังต้องดูความสอดคล้องของการก่อสร้างและการเงินให้ไปด้วยกันได้ด้วย ไม่ใช่เร่งทำจนส่งผลให้ประเทศเกิดวิกฤตทางด้านการเงิน ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลคงจะมีหาหารือร่วมกันทั้งกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาความชัดเจน แต่คงต้องรอให้มีการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการเสียก่อน
โดยมองว่าในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้านั้น คงไม่สามารถที่จะทุบโต๊ะวันนี้ได้เลย ว่าจะทำเส้นใดก่อนหลัง เพราะการลงทุนแต่ละโครงการมูลเป็นพันล้านบาท หมื่นล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าหากรัฐบาลจะทำ ก็ทำอย่างมีแนวทางการดำเนินงานอยู่แล้ว แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำ หรือแนวคิดมาประมวลให้เกิดผลดีที่สุด อะไรที่ปรับได้ และไม่ทำให้เกิดการล่าช้าก็จะทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด” นายสหัส กล่าวสรุปทิ้งท้าย