xs
xsm
sm
md
lg

เจอกันหน่อย! รัสเซียขู่ประจำการ ‘อาวุธนิวเคลียร์’ ที่คาลินินกราด ตอบโต้อเมริกาส่งขีปนาวุธพิสัยไกลเข้า ‘เยอรมนี’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์วานนี้ (18 ก.ค.) ว่า ทำเนียบเครมลิน “ไม่ปฏิเสธ” ทางเลือกประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศแผนส่งขีปนาวุธพิสัยไกลแบบดั้งเดิมเข้าไปยังเยอรมนี

สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์อ้างคำแถลงของ รยาบคอฟ ซึ่งระบุว่า การป้องกันดินแดนคาลินินกราด (Kaliningrad) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง 2 รัฐสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) อย่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย คือสิ่งที่มอสโกมุ่งเน้นเป็นพิเศษ

“ผมไม่ขอปฏิเสธทางเลือกใด” รยาบคอฟ กล่าวกับสื่อมวลชนที่กรุงมอสโก เมื่อถูกถามถึงเรื่องที่สหรัฐฯ จะส่งขีปนาวุธพิสัยไกลเข้าไปยังเยอรมนี

สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเริ่มส่งขีปนาวุธพิสัยไกลเข้าประจำการที่เยอรมนีตั้งแต่ปี 2026 โดยจะมีทั้งขีปนาวุธ SM-6 จรวดโทมาฮอว์ก และขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นใหม่ เพื่อสำแดงถึงความมุ่งมั่นที่สหรัฐฯ มีต่อนาโตและการป้องกันยุโรป

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวไว้เมื่อเดือน มิ.ย. ว่า รัสเซียจะฟื้นฟูการผลิตขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยปานกลาง และจะพิจารณาส่งระบบอาวุธเหล่านี้ไปประจำการยังสถานที่ต่างๆ ตามความจำเป็น ซึ่งขีปนาวุธส่วนใหญ่ของรัสเซียนั้นสามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบแบบดั้งเดิม และหัวรบนิวเคลียร์

รยาบคอฟ บอกกับอินเทอร์แฟกซ์ด้วยว่า รัสเซียจะใช้ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตอบโต้สหรัฐฯ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย รวมถึงเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วย

เขาย้ำว่า คาลินินกราดซึ่งเป็นภูมิภาคทางตะวันตกสุดที่ถูกตัดขาดจากผืนแผ่นดินใหญ่รัสเซีย “ดึงดูดความสนใจของพวกศัตรูที่ในเชิงไม่ค่อยจะดีมานานแล้ว”

“คาลินินกราดไม่ใช่ข้อยกเว้นในความมุ่งมั่น 100% ของเราที่จะทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านแผนการอันก้าวร้าว หรือใครก็ตามที่พยายามยั่วยุเราให้ทำในสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่พึงปรารถนา”

สำหรับขีปนาวุธที่รัสเซียและสหรัฐฯ กำลังพิจารณาส่งเข้าประจำการนั้นคือขีปนาวุธภาคพื้นดินพิสัยปานกลาง (intermediate-range ground-based weapons) ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามภายใต้สนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเคยทำร่วมกันไว้ในปี 1987

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญานี้เมื่อปี 2019 โดยอ้างว่ามอสโกละเมิดเงื่อนไขก่อน ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงชี้ว่า แผนประจำการขีปนาวุธเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันด้านอาวุธที่ทำให้ภัยคุกคามยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีก ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดหนักอยู่แล้วจากสงครามในยูเครน

ทั้งนี้ หากรัสเซียส่งขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการที่คาลินินกราดยังจะถือเป็นสัญญาณเตือนที่รุนแรงถึงชาติตะวันตก เพราะอยู่ประชิดติดกับดินแดนนาโต

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น