xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : 'วลาดิมีร์ ปูติน' ชนะเลือกตั้งรัสเซียถล่มทลาย ขึ้นแท่น ‘ซาร์ยุคใหม่’ ครองอำนาจนานสุดในรอบกว่า 200 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งรัสเซียระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.ที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถล่มทลาย ซึ่งช่วยให้อำนาจในมือของเขากระชับมั่นคงยิ่งกว่าเก่า ขณะเดียวกันก็ทำให้ ปูติน อ้างได้ว่าคนรัสเซียส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนนโยบายต่อต้านตะวันตกและการส่งทหารรุกรานยูเครน

อดีตสายลับ KGB ที่เริ่มก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองในปี 1999 ผู้นี้ยังประกาศชัดว่า ผลเลือกตั้งที่ออกมาน่าจะทำให้โลกตะวันตกได้ตระหนักและทำใจยอมรับกับสถานะมหาอำนาจของรัสเซีย ไม่ว่าจะในยามสงบหรือยามศึกสงครามไปตลอดอีกหลายปีข้างหน้า

ชัยชนะคราวนี้ยังเปิดทางให้ ปูติน วัย 71 ปี สามารถรั้งอำนาจปกครองรัสเซียต่อไปจนถึงอายุ 77 เป็นอย่างน้อย และยังทำให้เขาก้าวแซง โจเซฟ สตาลิน กลายเป็นผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในรอบกว่า 200 ปี

ปูติน ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากถึง 87% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในยุคหลังสหภาพโซเวียต ขณะที่สหรัฐฯ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศออกมาวิจารณ์ศึกเลือกตั้งในแดนหมีขาวว่าปราศจากทั้งความเสรีและความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากศัตรูทางการเมืองของ ปูติน ล้วนถูกจำคุก และยังมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดด้วย

นิโคไล คาริโตนอฟ ผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเข้าวินมาเป็นอันดับสอง ได้คะแนนโหวตจากชาวรัสเซียเพียงไม่ถึง 4%

ระหว่างขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะที่กรุงมอสโก ปูตินกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนับจากนี้ก็คือการทำ "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ในยูเครนให้ลุล่วง และเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพหมีขาวให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

"ยังมีภารกิจอีกมากมายรอเราอยู่เบื้องหน้า แต่หากเราสามัคคีปรองดองกัน ใครหน้าไหนก็ไม่อาจข่มขู่หรือกดขี่เราได้ ไม่เคยมีใครทำเช่นนั้นได้ในประวัติศาสตร์ และไม่ว่าวันนี้หรืออนาคต พวกเขาก็จะไม่มีวันทำสำเร็จเช่นกัน" ปูติน กล่าว

ผู้ประท้วงหลายพันคนที่รู้สึกเจ็บแค้นกับการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ อเล็กเซย์ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านคนสำคัญของรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ได้ออกมาทำกิจกรรมชุมนุมต่อต้าน ปูติน ตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั้งในรัสเซียและต่างประเทศ ทว่า ปูติน ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย และความพยายามเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านไม่ได้ส่งอิทธิพลอะไรเลยต่อผลเลือกตั้งที่ออกมา

เขายังเอ่ยถึงการตายของ นาวาลนี เป็นครั้งแรก โดยบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ "น่าเศร้า" พร้อมยืนยันว่ารัสเซียพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ

เมื่อถูกสื่อ NBC ของสหรัฐฯ ตั้งคำถามว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่? ปูติน ก็ให้คำตอบด้วยการย้อนวิจารณ์ระบบการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ

"ทั่วโลกกำลังหัวเราะเยาะสิ่งที่เกิดขึ้น (ในสหรัฐฯ)" เขาบอก "นี่มันคือหายนะ (disaster) ไม่ใช่ประชาธิปไตย (democracy)"

"การนำทรัพยากรของรัฐไปโจมตีผู้สมัครประธานาธิบดีอเมริกา โดยเฉพาะการนำฝ่ายตุลาการมาใช้เป็นเครื่องมือ ถือว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า?" ปูติน ตั้งคำถาม โดยน่าจะหมายถึงคดีความที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน โดยอัยการสั่งฟ้องยาวเป็นหางว่าวอยู่ในตอนนี้

ศึกเลือกตั้งทั่วไปในรัสเซียเกิดขึ้นเพียง 2 ปีหลังจากที่ ปูติน จุดชนวนนำยุโรปไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งทหารรุกรานแผ่นดินยูเครน และตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา ยูเครนได้แก้แค้นด้วยการส่งโดรนเข้าไปโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย ยิงปืนใหญ่ถล่มพื้นที่ชายแดน และยังพยายามใช้กองกำลังตัวแทนเจาะแนวป้องกันของรัสเซียด้วย

ปูติน ประกาศกร้าวว่ายูเครนจะต้องได้รับ "บทลงโทษ" จากการกระทำเหล่านี้ พร้อมเสนอแนวคิดให้มีการสร้างพื้นที่กันชนหรือ buffer zone ขึ้นในยูเครน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีเมืองชายแดนรัสเซียได้ง่ายๆ อีก

แม้ชัยชนะของ ปูติน จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายอะไร แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า เป้าหมายจริงๆ ของผู้นำรัสเซียน่าจะเป็นการโชว์ให้ทั่วโลกเห็นว่าคนรัสเซียส่วนใหญ่ยังสนับสนุนเขา ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ต้องถือว่าได้อย่างใจ เพราะนอกจากคะแนนโหวตเลือก ปูติน ที่ท่วมท้นถึง 87% แล้ว จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศก็ยังสูงถึง 74.22% ซึ่งเกินกว่าระดับ 67.5% ในศึกเลือกตั้งปี 2018


ท่าทีตอบสนองจากนานาชาติต่อผลการเลือกตั้งในรัสเซียยังแตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกแห่ประณามการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียว่า “ไม่แฟร์” และ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ขณะที่ผู้นำมหาอำนาจฟากฝั่งเอเชียอย่าง จีน อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย ร่วมแสดงความยินดีกับ ปูติน ที่เตรียมรั้งอำนาจปกครองแดนหมีขาวต่อไปยาวๆ อีก 6 ปี

กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสวิจารณ์ว่า “เงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่เสรี มีความเป็นพหุนิยม และเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้น” ในรัสเซีย ขณะที่ เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “ปูตินกำจัดศัตรูทางการเมืองออกไปจนหมดสิ้น ควบคุมสื่อมวลชน และสวมมงกุฎให้ตนเองเป็นผู้ชนะ นี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย”

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้กล่าวแสดงความยินดีกับ ปูติน และยืนยันว่าปักกิ่งจะยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับมอสโกอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่ “ไร้ขีดจำกัด” ตามที่ผู้นำทั้งสองได้ตกลงกันไว้เมื่อปี 2022

“ผมเชื่อว่าภายใต้การนำของท่าน รัสเซียจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในด้านการพัฒนาและการสร้างชาติบ้านเมือง” สำนักข่าวซินหวาอ้างข้อความอวยพรที่ สี ส่งถึง ปูติน

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงต่อโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีที่ ปูติน ชนะศึกเลือกตั้ง และผู้นำทั้งสองต่างยืนยันความพร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพภายในกลุ่มชาติผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ขณะที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียก็ส่งสารในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลนิวเดลี “รอคอยที่จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่พิเศษ และผ่านการพิสูจน์ด้วยกาลเวลาแล้ว” กับมอสโก

ปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้สะท้อนถึงรอยแยกทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่รัสเซียส่งกองทัพรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี 2022 และนำมอสโกเข้าสู่วิกฤตด้านความสัมพันธ์กับตะวันตกครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2


แม้ ปูติน จะสามารถรั้งเก้าอี้ผู้นำรัสเซียต่อได้แบบสบายๆ ไร้คู่แข่ง ทว่าช่วงเวลาอีก 6 ปีนับจากนี้ยังต้องจับตามองว่าเขาจะรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ อย่างไร โดยเฉพาะวิกฤตสงครามในยูเครนที่ผู้นำรัสเซียต้องตัดสินใจว่าควรจะยกระดับหรือปิดฉากลงเมื่อไหร่

ปัจจุบันรัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนอยู่ราวๆ 1 ใน 5 ซึ่งแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 และแม้ ปูติน จะไม่เคยออกมาประกาศเป้าหมายเรื่องดินแดนอย่างชัดเจน แต่ ดมิตรี เมดเวเดฟ พันธมิตรคนสนิทของเขา เคยพูดไว้เมื่อเดือน ก.พ. ว่า รัสเซียยังมีเป้าหมายที่จะชิงดินแดนยูเครนให้ได้มากกว่านี้ โดยอาจจะรวมถึงเมืองท่าโอเดซา (Odesa) หรือแม้กระทั่งกรุงเคียฟ หากสามารถทำได้

ผู้สังเกตการณ์มองว่ารัสเซียกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ และ ปูติน อาจปล่อยให้สงครามยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ในขณะที่ยูเครนนั้นตกอยู่ในสถานะเพลี่ยงพล้ำเพราะขาดแคลนทั้งเครื่องกระสุน อีกทั้งความช่วยเหลือล็อตใหม่จากสหรัฐฯ ก็ถูกพวกรีพับลิกันในสภาคองเกรสเตะถ่วงอยู่

ในแง่ของการค้าและพลังงาน ปูตินจำเป็นต้องแสวงหาช่องทางการค้าและประเทศคู่ค้าใหม่ๆ หลังจากที่เสียฐานลูกค้าพลังงานในยุโรปไปเกือบหมดจากการถูกตะวันตกคว่ำบาตร และผลของการระเบิดทำลายสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม

3 โครงการสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่ายุทธศาสตร์หันสู่การค้าฝั่งตะวันออกของ ปูติน จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ก็คือ

1) โครงการสร้างศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในตุรกี ซึ่งจะช่วยให้รัสเซียสามารถเปลี่ยนไปใช้เส้นทางใหม่ในการส่งออกก๊าซ

2) โครงการท่อส่งก๊าซ Power of Siberia 2 ซึ่งจะช่วยให้รัสเซียสามารถลำเลียงก๊าซธรรมชาติผ่านมองโกเลียส่งขายให้จีนได้เพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และ

3) การขยายเส้นทางเดินเรือในทะเลตอนเหนือ ซึ่งจะต้องใช้วิธีละลายน้ำแข็งในทะเลแถบอาร์กติกเพื่อเปิดทางเชื่อมต่อเมืองเมอร์มันสก์ (Murmansk) ตรงพรมแดนรัสเซียฝั่งที่ติดกับนอร์เวย์กับช่องแคบเบห์ริงใกล้ๆ รัฐอะแลสกา

การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทายสำหรับมอสโกในช่วง 6 ปีข้างหน้า โดย ปูติน ต้องตัดสินใจว่าจะเจรจากรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงใหม่กับสหรัฐฯ หรือนำรัสเซียเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันด้านอาวุธอย่างเต็มตัว

สนธิสัญญา New START ซึ่งกำหนดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่รัสเซียและสหรัฐฯ สามารถประจำการได้กำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.พ. ปี 2026 และหากไม่มีการต่อสัญญาทันที ก็จะเปิดโอกาสให้ 2 มหาอำนาจสามารถขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของตนออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด

ปูติน เคยกล่าวไว้ว่า รัสเซียจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมเพื่อไม่ให้ถูกสหรัฐฯ "ทำให้อ่อนล้า" ในการแข่งขันด้านอาวุธเหมือนอย่างที่สหภาพโซเวียตเคยเป็นมาแล้วในช่วงสงครามเย็น เขายืนยันว่ารัสเซียจะเดินหน้าพัฒนา "ระบบอาวุธใหม่ๆ" แต่ปฏิเสธข้อครหาของวอชิงตันที่อ้างว่ามอสโกมีแผนประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ

ผู้นำหมีขาวยังบอกด้วยว่า รัสเซียอาจรื้อฟื้นการทดลองนิวเคลียร์หากสหรัฐฯ เป็นฝ่ายลงมือทำก่อน ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะเปิดการเจรจาทางยุทธศาสตร์ (strategic dialogue) กับสหรัฐฯ แต่จะต้องครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทุกอย่างของรัสเซีย รวมถึงเรื่องยูเครนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น