วังเครมลินในวันเสาร์ (13 ก.ค.) ส่งเสียงเตือนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่จะประจำการขีปนาวุธในเยอรมนี ชี้มันอาจทำให้เมืองหลวงทั้งหลายของยุโรปถูกเล็งเป้าโดยขีปนาวุธของรัสเซีย ซ้ำรอยเหตุเผชิญหน้าในยุคสมัยสงครามเย็น
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน พูดถึงความขัดแย้ง ซึ่ง "ยุโรปจะเป็นเป้าหมายสำหรับขีปนาวุธของเรา หากว่าประเทศของเราเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธสหรัฐฯ ในยุโรป" พร้อมบอกต่อว่า "เรามีศักยภาพมากพอที่จะสกัดกั้นขีปนาวุธเหล่านั้น ดังนั้นแนวโน้มผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อก็คือ เมืองหลวงของประเทศเหล่านั้น"
โฆษกวังเครมลินให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์รัสเซีย1 สื่อมวลชนแห่งรัฐ ต่อว่า การเผชิญหน้าหนึ่งๆ ระหว่างรัสเซียกับยุโรป อาจบ่อนทำลายยุโรปทั้งมวล ในแนวทางที่สงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต "ยุโรปจะถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ยุโรปไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ดีนัก มีลักษณะที่แตกต่างกัน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้"
ทำเนียบขาวในวันพุธ (10 ก.ค.) แถลงระหว่างการประชุมซัมมิตนาโต ว่าพวกเขาจะประจำการอาวุธพิสัยไกล ในนั้นรวมถึงขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก แบบเป็นขั้นเป็นตอนในเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ในฐานะเครื่องป้องปราม
รัสเซียได้ออกมาประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวแล้วก่อนหน้านี้ โดยกล่าวหาวอชิงตันกำลังก้าวย่างสู่สงครามเย็น และกำลังมีส่วนร่วมโดยตรงในความขัดแย้งในยูเครน
กระทรวงกลาโหมรัสเซีย เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (5 ก.ค.) ว่า อังเดร เบลูซอฟ รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการลดระดับความเสี่ยงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ลุกลามบานปลาย
โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยกย่องการตัดสินใจของสหรัฐฯ แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาสมาชิกพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ของเขา
การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการนำขีปนาวุธร่อนสหรัฐฯ กลับสู่เยอรมนีอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานกว่า 20 ปี
โชลซ์ ปกป้องการตัดสินใจของตนเอง โดยบอกกับพวกผู้สื่อข่าว ณ ที่ประชุมซัมมิต ว่า "มันเป็นบางอย่างในมาตรการป้องปรามและรับประกันสันติภาพ และมันเป็นการตัดสินใจที่จำเป็นและสำคัญ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม"
กองทัพเยอรมนีไม่มีขีปนาวุธพิสัยไกลยิงจากภาคพื้น มีเพียงขีปนาวุธร่อนที่สามารถยิงจากเครื่องบินเท่านั้น
สหรัฐฯ เคยประจำการขีปนาวุธแบบทิ้งตัว Pershing ในเยอรมนีตะวันตก ในช่วงทศวรษ 1980 ในช่วงพีกสุดของสงครามเย็น กระตุ้นให้เกิดการประท้วงในวงกว้าง ประชาชนหลายแสนคนออกมาเรียกร้องขอความสงบสุข
ขีปนาวุธดังกล่าวของสหรัฐฯ ยังคงประจำการอยู่ในเยอรมนี ผ่านช่วงเวลาแห่งการรวมชาติเยอรมนีและลากยาวจนถึงช่วงทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดสงครามเย็น สหรัฐฯ ลดจำนวนขีปนาวุธที่ประจำการอยู่ในยุโรปลงอย่างมาก เนื่องจากภัยคุกคามจากมอสโกลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เวลานี้บรรดาชาตินาโตที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังยกระดับการป้องกันตนเองในยุโรป ตามหลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครนในปี 2022
(ที่มา : เอเอฟพี)