เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เป็นประธานในการลงนามข้อตกลงมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ร่วมกับค่ายรถไฟฟ้าจีน BYD วานนี้ (8 ก.ค.) เพื่อตั้งโรงงานเล็งหาทางเลี่ยงกำแพงภาษีสูงลิ่วจากสหภาพยุโรป
บีบีซีของอังกฤษรายงานวานนี้ (8 ก.ค.) ว่า พิธีลงนามข้อตกลงมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์เกิดขึ้นที่เมืองอิสตันบูล ระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตุรกี เมห์เมต ฟาตีฟ์ คาเซอร์ (Mehmet Fatih Kacir) และซีอีโอใหญ่ค่ายรถไฟฟ้าจีน BYD หวัง ชวนฝู (Wang Chuanfu) โดยมีประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เป็นประธาน
BYD จะก่อสร้างโรงงานในตุรกีพร้อมกับความคาดหวังว่าโรงงานใหม่จะสามารถผลิตรถได้จำนวน 150,000 คัน/ปี อ้างอิงจากสำนักข่าวอนาโดลูของตุรกี
ข่าวการลงนามข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังก่อนหน้าวันพฤหัสบดี (4) BYD ประกาศเปิดโรงงานเป็นครั้งแรกในไทยซึ่งจะกลายเป็นฮับของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการขยายตัวออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่
บีบีซีชี้ว่า ตุรกีซึ่งเป็นประเทศนอกสหภาพยุโรป แต่ทว่าอังการานั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบศุลกากร EU ซึ่งอธิบายได้ว่า รถยนต์ที่ผลิตในตุรกีเมื่อนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปจะสามารถเลี่ยงภาษีเพิ่มเติมได้
เกิดขึ้นหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา บรัสเซลส์ตัดสินใจปกป้องอุตสาหกรรมรถยุโรปด้วยการเพิ่มกำแพงภาษีรถนำเข้าจากจีน
และส่งผลทำให้รถยนต์ค่าย BYD ต้องเจอภาษีเพิ่มอีก 17.4% สำหรับรถที่ผลิตจากจีนส่งเข้ามายุโรปเพิ่มจากภาษีนำเข้า 10%
บีบีซีรายงานว่า รัฐบาลอังการาเองได้ตั้งกำแพงภาษี 40% สำหรับรถนำเข้าจีนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ
เกิดขึ้นหลังเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เร่งตั้งกำแพงภาษีต่อรถยนต์ไฟฟ้าจีน แผงโซลาร์เซลล์ เหล็กกล้า และสินค้าอื่นจากแดนมังกร
ทำเนียบขาวแถลงต่อมาตรการว่า รวมไปถึง 100% ภาษีพรมแดนรถไฟฟ้าจากจีนนั้นเป็นการตอบโต้จากนโยบายที่ไม่ยุติธรรมและต้องการปกป้องงานในสหรัฐฯ
ส่งผลทำให้ BYD ซึ่งมีมหาเศรษฐีอเมริกัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือหุ้นและเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัทเทสลาของ อีลอน มัสก์ เร่งขยายฐานการผลิตไปต่างแดนเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี
ซึ่งบริษัทมีแผนจะเปิดโรงงานในเม็กซิโก และเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา BYD ประกาศจะตั้งโรงงานในฮังการีซึ่งเป็นชาติสมาชิก EU