ญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ลงนามข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับสำคัญในวันจันทร์ (8 ก.ค.) ซึ่งสาระสำคัญคือเปิดโอกาสให้ทหารของสองประเทศประจำการในดินแดนของกันและกันเพื่อร่วมซ้อมรบ รวมถึงการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงด้วย ขณะที่ทั้งสองชาตินี้ที่เป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริการะบุว่าเผชิญความก้าวร้าวของจีนเพิ่มมากขึ้น แต่ทางด้านปักกิ่งกล่าวหาวอชิงตันกำลังพยายามสร้างองค์การนาโตเวอร์ชันเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมย้ำว่าภูมิภาคนี้ไม่จำเป็นต้องมีกลุ่มความร่วมมือทางทหาร
ข้อตกลงที่ใช้ชื่อว่า “ความตกลงเพื่อการเข้าถึงต่างตอบแทน” (Reciprocal Access Agreement หรือ RAA) ระหว่าง 2 ประเทศฉบับนี้ ลงนามโดย กิลเบอร์โต ทีโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ และโยโกะ คามิกาวะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงมะนิลา ในพิธีซึ่งมีประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน และข้อตกลงนี้จะมีผลภายหลังจากที่รัฐสภาของชาติทั้ง 2 ให้สัตยาบันรับรอง
คามิกาวะแถลงว่าข้อตกลงนี้เป็นความสำเร็จสำคัญที่จะส่งเสริมการร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างกัน และเสริมว่า โตเกียวต้องการร่วมมือกับมะนิลาเพื่อส่งเสริมระเบียบโลกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งอิงกับหลักนิติธรรม และเป็นพื้นฐานของสันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาค
ในเวลาต่อมา คามิกาวะ และทีโอโดโร ได้เข้าร่วมการประชุมกับ มิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น และรัฐมนตรีต่างประเทศเอนริเก มานาโล ของฟิลิปปินส์
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกลาโหมกับชาติในเอเชีย หลังจากได้ลงนามข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้กับออสเตรเลียในปี 2022 และกับสหราชอาณาจักรในปี 2023
ขณะที่ฝ่ายฟิลิปปินส์มีข้อตกลงแบบเดียวกันนี้กับอเมริกาและออสเตรเลีย รวมทั้งเตรียมทำข้อตกลงกับฝรั่งเศสเร็วๆ นี้
ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นต่างเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของอเมริกา ซึ่งกำลังพยายามกระชับความเข้มแข็งของเครือข่ายพันธมิตรซึ่งตนมีอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก จากแคนเบอร์ราจนถึงโตเกียว ด้วยวัตถุประสงค์มุ่งทัดทานแสนยานุภาพและอิทธิพลทางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้
ด้านเจ้าหน้าที่จีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่ากำลังพยายามสร้างเวอร์ชันในเอเชีย-แปซิฟิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขึ้นมา
หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า ภูมิภาคนี้ไม่ได้ต้องการมีกลุ่มความร่วมมือทางทหาร เพราะลำพังกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะกระตุ้นสงครามเย็นรอบใหม่และกระตุ้นการเผชิญหน้ากันได้แล้ว
การลงนามข้อตกลงนี้เกิดขึ้นขณะที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมองว่า จีนแสดงท่าทีท้าตีท้าต่อยเพิ่มมากขึ้นทั้งที่ไต้หวันและในทะเลจีนใต้ จุดชนวนความกังวลว่า อาจเกิดการสู้รบขัดแย้งที่จะดึงเอาอเมริกาเข้าพัวพันด้วย
ขณะที่จีนกับฟิลิปปินส์ในระยะหลังมานี้ก็มีการเผชิญหน้าทางทะเลจีนใต้บ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเรือยามฝั่งของจีนเข้าโอบล้อม และส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีมีด ไม้ และขวานเป็นอาวุธ บุกขึ้นไปบนเรือของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ 3 ลำที่กำลังปฏิบัติภารกิจจัดส่งเสบียงที่สันดอนเซ็กคันด์ โทมัส โชล บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ทำให้ทหารฟิลิปปินส์คนหนึ่งบาดเจ็บนิ้วขาด
ด้านญี่ปุ่นก็มีข้อพิพาทกับจีนเช่นเดียวกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่ในทะเลจีนตะวันออก
ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเคยบุกและยึดครองฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นเนื่องจากมีการค้าและการลงทุนร่วมกัน รวมทั้งมีแนวความคิดทำนองเดียวกันในการร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีน
นอกจากนั้น ฟิลิปปินส์ยังเป็นเป้าหมายสำคัญในความพยายามของอเมริกาเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตร สืบเนื่องจากจุดยืนของมะนิลาในทะเลจีนใต้ อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้ไต้หวันที่จีนประกาศเป็นดินแดนของตนมาโดยตลอด ขณะที่วอชิงตันถือว่าไต้หวันเป็นที่มั่นสำคัญที่จะตนต้องรักษาเอาไว้ ถึงแม้ตนเองประกาศยอมรับเรื่องที่ว่าจีนมีจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ผู้นำญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอเมริกา ได้จัดการประชุมสุดยอดร่วมกันเมื่อเดือนเมษายนที่วอชิงตัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านกลาโหม ภายหลังการซ้อมรบร่วมระหว่างสามประเทศนี้บวกกับออสเตรเลียในทะเลจีนใต้
เรนาโต ครูซ เดอ คาสโตร ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเดอ ลา ซาลล์ ในมะนิลา ชี้ว่า ญี่ปุ่นซึ่งกังวลกับความเป็นไปได้ที่อเมริกาอาจเปลี่ยนแปลงนโยบายในเอเชีย จึงกำลังพยายามสร้างความประทับใจว่า ตนเองเป็นหมุดหมายสำคัญของสถานะด้านความมั่นคงและการทหารของวอชิงตันในภูมิภาคนี้ รวมทั้งเป็นพันธมิตรที่วางใจได้มากที่สุด
(ที่มา : เอเอฟพี, เอพี)