เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวหา มหาอำนาจตะวันตกบางชาติพยายามเปลี่ยนความขัดแย้งเรื่องยูเครนให้กลายเป็นสงครามโลกเต็มรูปแบบ แต่เขาแสดงความหวังว่าสันติภาพจะเอาชนะความอาฆาตแค้น
เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยื่นข้อเสนอจำนวนหนึ่ง โดยมีเป้าหมายยุติความเป็นปรปักษ์ในยูเครน พร้อมยืนยันว่ามอสโกเปิดกว้างสำหรับการเจรจามาตลอด อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านั้นถูกปฏิเสธโดยยูเครนและบรรดาชาติตะวันตกผู้สนับสนุน อ้างว่าไม่มีความเป็นจริงและไร้ความจริงใจ
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินประธานาธิบดี ขณะเดินทางกลับจากไปร่วมประชุมซัมมิตองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ในกรุงอัสตานา คาซัคสถาน เมื่อวันศุกร์ (5 ก.ค.) ทาง แอร์โดอัน คร่ำครวญว่า "เป็นที่น่าเสียดายที่มีประเทศต่างๆ และเครือข่ายในตะวันตกสนับสนุนแนวทางหนึ่งๆ ซึ่งเปิดทางสำหรับสงครามโลกครั้งที่ 3"
เขากล่าวโทษบรรดาผู้ผลิตอาวุธที่เอาแต่ผลักดันวาระของตนเอง ในขณะที่บรรดามหาอำนาจตะวันตกเดินหน้าไหลบ่าความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน "มันชัดเจนว่าพวกพ่อค้าอาวุธต้องการเงิน และตลาดสำหรับพวกพ่อค้าอาวุธก็คือตะวันตก"
ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวต่อว่า ในทางตรงกันข้าม รัสเซียกำลังสนับสนุนสันติภาพและทางออกอย่างสันติของความขัดแย้งยูเครน เขาบอกด้วยว่าอังการาจะจับตาดูพัฒนาการในความขัดแย้งนี้ และหวังว่าเคียฟกับมอสโกจะบรรลุข้อตกลงสันติภาพกันได้ในเร็ววัน
ผู้นำตุรกีและรัสเซีย มีโอกาสพบปะกันรอบนอกการประชุม SCO ในวันพุธ (3 ก.ค.) โดยแม้ตุรกีไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรแห่งนี้ แต่ก็อยู่ในฐานะพันธมิตรทางการทูต
ในการพูดถึงประเด็นความเป็นไปได้เกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพกับยูเครน ระหว่างการประชุมซัมมิตในวันพฤหัสบดี (4 ก.ค.) ปูติน กล่าวว่าประตูสำหรับสันติภาพยังคงเปิดกว้างอยู่ "ข้อตกลงอิสตันบูลไม่ได้หายไปไหน มันริเริ่มโดยหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของยูเครน นั่นหมายความอย่างชัดเจนว่า ยูเครนพอใจกับข้อตกลงนั้น"
ปูติน อ้างถึงร่างเอกสารที่เกือบจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในเมืองหลวงของตุรกี ในช่วงฤดูใบไม้ผลิใน 2022 ในข้อตกลงที่ระบุว่ายูเครนจะให้พันธสัญญาเกี่ยวกับความเป็นกลางอย่างถาวร พร้อมกับลดขนาดกองทัพ และกับคำรับประกันด้านความมั่นคงบางอย่าง "ข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้ยังคงวางอยู่บนโต๊ะ และอาจถูกใช้เป็นพื้นฐานของการเดินหน้าเจรจากันต่อ"
มอสโกกล่าวอ้างว่าการเจรจาพังครืนลงจากฝีมือของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ ขณะนั้น โดยแม้ จอห์นสัน ปฏิเสธคำกล่าวหานี้โดยสิ้นเชิง แต่บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระบุในตอนนั้น ยอมรับแบบกลายๆว่า จอห์นสัน มีบทบาทสำคัญในการล้มโต๊ะเจรจา ด้วยการสนับสนุนให้เคียฟเดินหน้าสู่ต่อ
เมื่อเดือนที่แล้ว ปูตินระบุว่ารัสเซียพร้อมเปิดการเจรจาสันติภาพกับยูเครนในทันที หากว่าเคียฟถอนทหารจากภูมิภาคดอนบาส และอีก 2 แคว้นที่เคยเป็นของยูเครน เช่นเดียวกับรับปากเกี่ยวกับการเป็นรัฐที่เป็นกลาง อย่างไรก็ตาม เคียฟและบรรดาชาติตะวันตกผู้สนับสนุนรุดออกมาปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างรวดเร็ว โดยสวนกลับว่ามันเป็นการยื่นคำขาด
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)