ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี เรียกร้องให้เอาอิสราเอลขึ้นศาลระหว่างประเทศ เอาผิดต่อการกระทำต่างๆ ในฉนวนกาซา ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลุกลามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (28 พ.ย.) แอร์โดอัน บอกว่ากองทัพอิสราเอลยังคงเดินหน้าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศต่อหน้าต่อตาประชาคมนานาชาติ
ทั้ง 2 คน พูดคุยกันก่อนหน้าการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับประเด็นกาซา ซึ่งกำหนดไว้ในวันพุธ (29 พ.ย.) การสนทนากันครั้งนี้มุ่งเน้นไปแนวทางคลี่คลายวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนปาเลสไตน์ และหนทางต่างๆ ที่จะบรรลุเป้าหมาย "สันติภาพที่ยั่งยืน" ในภูมิภาค ทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์
แอร์โดอัน ยังเน้นย้ำด้วยว่า "อิสราเอลยังคงเหยียบย่ำกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง เช่นเดียวกับกฎแห่งสงครามและกฎหมายมนุษยธรรม" ถ้อยแถลงระบุ พร้อมบอกว่าผู้นำตุรกีเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับ อิสราเอลด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ โทษฐานก่ออาชญากรรมต่างๆ
กลุ่มนักรบฮามาสจู่โจมอิสราเอลอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไป 1,200 ราย และจับตัวประกันกลับไปยังฉนวนกาซา 240 คน
จากนั้นอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนแห่งนี้ และยกระดับการจู่โจมทางภาคพื้นบริเวณทางเหนือ ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วมากกว่า 16,000 คน ในนั้นเป็นเด็กและผู้หญิงหลายพันคน และรัฐบาลที่บริหารงานโดยฮามาสของกาซา ระบุว่ามีผู้ไร้ถิ่นฐานอีกหลายแสนคน
ในวันอังคาร (28 พ.ย.) แอร์โดอัน แสดงความเสียใจกับ กูเตอร์เรส ต่อการเสียชีวิตของบุคลากรของสหประชาชาติมากกว่า 100 คน ในฉนวนแห่งนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลากยาวมานนานหลายสัปดาห์
ข้อตกลงหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามหลังอิสราเอลเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ข้อตกลงนี้ยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวประกันแลกเปลี่ยนกับนักโทษปาเลสไตน์ด้วย
จำนวนตัวประกันที่ได้รับการปล่อยตัวจากฮามาส นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงเริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ (24 พ.ย.) อยู่ที่ 81 คน ในนั้นเป็นชาวอิสราเอล 61 คน ทั้งหมดเป็นผู้หญิงและเด็ก และชาวต่างชาติ 21 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานภาคเกษตรกรรมชาวไทย ในขณะที่ก่อนหน้าการปล่อยนักโทษพิ่มเติมในวันอังคาร (28 พ.ย.) อิสราเอลปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ ไปแล้ว 150 คน
แอร์โดอัน วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดต่อการกระทำของอิสราเอลในกาซา ตั้งแต่ช่วงต้นของความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย ตราหน้าอิสราเอลว่าเป็น "รัฐก่อการร้าย" และกล่าวหากองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอล ว่าก่ออาชญากรรมสงครามกับชาวปาเลสไตน์
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ตอบโต้กลับ โดยกล่าวหาประธานาธิบดีตุรกี ว่าให้การสนับสนุน "รัฐก่อการร้ายแห่งฮามาส"
ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ผู้นำตุรกีเปิดเผยว่าจะร้องขอไปยังสำนักงานพลังงานประมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ให้สืบสวนว่ารัฐยิวมีนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ "อาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอลต้องถูกตรวจสอบในทุกความสงสัยใดๆ ก่อนที่จะสายเกินไป" เขากล่าว พร้อมเตือนทุกคนว่าอิสราเอลไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ปี 1968
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)