xs
xsm
sm
md
lg

กลาโหมกัมพูชาเล็งจัดซื้อ “เรือรบจีนรุ่น 056 corvette” 2 ลำ ปักกิ่งขยาย “ฐานทัพเรือเรียม” เพิ่มแบ่งโซนเฉพาะให้กองกำลังจีน เตรียมเป็นฐานใหญ่ใกล้ช่องแคบมะละกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สื่อตะวันตกรายงาน ฐานทัพเรือเรียมในกัมพูชาไม่ไกลจาก จ.ตราด ปัจจุบันกำลังขยายตัวด้านในมีแบ่งโซนให้เฉพาะกองกำลังทหารจีนใช้แยกจากของกัมพูชาเด็ดขาด แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศปักกิ่งอ้าง พนมเปญขอให้ขยายเพื่อป้องกันอธิปไตย กระทรวงกลาโหมกัมพูชาเผยกำลังอยู่ในตลาดจัดหาเรือรบจีนรุ่น 056 corvette เชื่อฐานทัพเรียมมีไว้เพื่อปักกิ่งเล็งคุมช่องแคบมะละกาจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารส่งผ่านพลังงานและสินค้าและในสงครามไต้หวัน

วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานวันนี้ (1 ก.ค.) ว่า ความใกล้ชิดระหว่างทั้ง 2 ชาติทั้งการทหารและเศรษฐกิจระหว่างจีนและพนมเปญสร้างความวิตกให้ตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ปักกิ่งนอกจากตั้ง Wang Wenbin อดีตโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนขึ้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ที่สื่อเรดิโอฟรีเอเชียของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ล่าสุดว่า เป็นการตั้งนักการทูตหมาป่ามายังกัมพูชาโดยเฉพาะปัจจุบันกำลังขยายฐานทัพเรียมในกัมพูชาให้ขยายใหญ่โตอย่างเป็นความลับ

คอลลิน โค้ว (Collin Koh) นักวิเคราะห์อาวุโสประจำสถาบันการศึกษาด้านกิจการระหว่างประเทศชื่อดังของสิงคโปร์ S. Rajaratnam ชี้ว่า การที่กัมพูชามีความใกล้ชิดกับจีนทำให้ “สหรัฐฯ” ไม่สามารถทำอะไรได้มากแม้กระทั่งการเดินทางมาเยือนกัมพูชาเมื่อไม่นานมานี้ของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ก็ตาม

วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ชาวหมู่บ้านกัมพูชาในพื้นที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยเกี่ยวกับการขยายที่เกิดขึ้นใกล้ฐานทัพเรียมหรือเกี่ยวกับเรือรบจีนลำใหญ่ 2 ลำที่จอดอยู่ที่นั่นและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฝ่ายสหรัฐฯ เฝ้าจับตาฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาภายใต้ทุนจีน ซึ่งฐานทัพเรือเรียม (Ream Base) ตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุ (Preah Sihanouk) ห่างจากจังหวัดตราดออกไปทางทะเลแค่ 200 กม.โดยมีเกาะกูดของจังหวัดตราดนั้นมีข่าวปัญหากับกัมพูชาซึ่งตามการรายงานของสื่อไทยในประเทศระบุว่า พนมเปญต้องการขีดเส้นบนแผนที่ ลากเฉือนแบ่งเกาะกูดเป็น 2 ฝั่ง

และฐานทัพเรียมยังตั้งห่างออกไปไม่ถึง 30 กม.จากเกาะฟู้ก๊วก (Phu Quoc island) ของเวียดนาม และเกาะกูดของจังหวัดตราด

ปัจจุบัน ฐานทัพแห่งนี้พบว่าเต็มไปด้วยเครนก่อสร้างและภาพที่เปิดเผยออกมาผ่านประตูทางใต้แสดงให้เห็นขอบเขตการก่อสร้างมหาศาล

ชาวประมงกัมพูชาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นการสร้างที่ใหญ่โตมาก”

และชาวบ้านคนหนึ่งที่มีญาติทำงานในฐานทัพเรียมเปิดเผยว่า คนงานก่อสร้างจีนที่ขึ้นรถบัสออกไปในเวลากลางคืนเป็นผู้รับผิดชอบการปรับปรุงเพิ่มเติม พร้อมเสริมต่อว่า ปัจจุบันนี้ฐานทัพถูกแบ่งที่มีโซนพื้นที่เฉพาะสำหรับกองทัพเรือจีน และพื้นที่แยกเฉพาะสำหรับกองทัพเรือกัมพูชา

ชาวบ้านคนดังกล่าวให้ข้อมูลว่า “กองทัพเรือจีนไม่ต้องการให้คนงานกัมพูชาและกองทัพเรือกัมพูชาเข้าไปใกล้กับส่วนของตัวเอง”

ภาพดาวเทียมเมื่อเมษายนที่เปิดเผยจาก Center for Strategic and International Studies สถาบันธิงแทงก์ชื่อดังที่มีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แสดงให้เห็นว่า ท่าเรือในฐานทัพเรียมนั้นว่างเปล่าชั่วคราวระหว่างมกราคมและมีนาคม

เรือรบจีน 056A corvette เป็น 1 ใน 2 ของเรือรบจีนที่เข้าจอดในกัมพูชาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ปี 2023 ก่อนที่จะจากไปในเดือนมกราคมปี 2024 อ้างอิงจากสื่อเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์และสื่อยูเรเชียไทม์ส

วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า กระทรวงกลาโหมกัมพูชาได้เคยกล่าวเมื่อพฤษภาคมล่าสุดว่า ในเวลานี้พนมเปญกำลังอยู่ระหว่างการจัดหาเรือรบจีน 056 corvette จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่จอดในฐานทัพเรียมและที่จีนขายให้อัลจีเรีย บังกลาเทศ และไนจีเรีย

และเมื่อถามเกี่ยวกับเรือและการขยายฐานทัพเรียม กระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวว่า มันเป็นการร้องขอของฝ่ายกัมพูชา

“จีนสนับสนุนกัมพูชาในการอัปเกรดปรับปรุงและโครงการก่อสร้างขยายเพื่อเพิ่มความสามารถของกัมพูชาในการป้องกันเอกราชและอธิปไตยชาติ”

วอลล์สตรีทชี้ว่า ดูเหมือนฐานทัพเรือเรียมที่ถูกมองว่าเป็นฐานทัพนอกประเทศจีนแห่งที่ 2 นี้มีศักยภาพสามารถรับเรือลำที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพจีนได้ ซึ่งตามความเห็นนักวิเคราะห์รวมไปถึงเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน 2 ลำของจีน

และฐานทัพเรือเรียมจะทำให้ปักกิ่งสามารถอยู่ใกล้ช่องแคบมะละกาที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการส่งผ่านทั้งพลังงานและสินค้า และมีบทบาทสำคัญในการรบที่ไต้หวัน

ซึ่งวิกีพีเดียกล่าวว่า ช่องแคบมะละกาตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายูกับเกาะสุมาตราที่มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยอยู่ในพื้นที่

“จีนมีเป้าหมายเพื่อขัดขวางกองกำลังสหรัฐฯ ในการเดินทางข้ามช่องแคบมะละกาอย่างปลอดภัยไปยังปลายขอบของจีนเพื่อป้องกันกองกำลังไม่ให้สู้รบ” เครก ซิวเกลตัน (Craig Singleton) นักวิจัยอาวุโสด้านจีนประจำสถาบันธิงแทงก์ Foundation for Defense of Democracies ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.


กำลังโหลดความคิดเห็น