xs
xsm
sm
md
lg

SpaceX คว้าสัญญา $843 ล้าน สร้างยานผลัก ‘สถานีอวกาศนานาชาติ’ ออกจากวงโคจรภายในปี 2030

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) มอบสัญญามูลค่า 843 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เพื่อผลิตยานที่สามารถผลักสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station - ISS) ออกจากวงโคจรรอบโลกเพื่อทำลายทิ้งในราวปี 2030

ภายใต้สัญญาฉบับใหม่กับนาซา SpaceX จะต้องผลิตสิ่งที่เรียกว่า U.S.Deorbit Vehicle ซึ่งจะใช้ในการผลักสถานีอวกาศนานาชาติออกจากวงโคจร และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อพื้นที่ชุมชนบนโลก โดยนาซาจะถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของยานดังกล่าว และควบคุมภารกิจยานด้วยตัวเอง

ISS ซึ่งเป็นสถานีวิจัยในอวกาศที่มีขนาดพอๆ กับสนามฟุตบอล และได้รับการซ่อมบำรุงดูแลโดยสหรัฐฯ และรัสเซียเป็นหลัก ถูกใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของนักบินอวกาศจากประเทศต่างๆ มานานถึง 24 ปีแล้ว ทว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เริ่มเสื่อมสภาพทำให้นาซาและหุ้นส่วนต่างชาติมีแผนที่จะปลดประจำการสถานีอวกาศแห่งนี้ภายในปี 2030

สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา และอีกหลายประเทศภายใต้องค์การอวกาศยุโรป (Europe Space Agency) ได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติไปจนถึงปี 2030 ขณะที่รัสเซียตกลงเป็นหุ้นส่วนถึงปี 2028 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่องค์การด้านอวกาศของรัสเซีย Roscosmos ประเมินว่าชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ของรัสเซียจะสิ้นสุดอายุการใช้งาน

ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์บน ISS ซึ่งโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 250 ไมล์เหนือพื้นโลกยังคงอยู่รอดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงสงครามในยูเครนที่ทำให้ชาติตะวันตกระงับความร่วมมือแทบทุกด้านกับรัสเซีย

ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียบน ISS มีพื้นฐานจากการพึ่งพากันในทางเทคนิค เนื่องจากเครื่องยนต์ขับดัน (thrusters) ของรัสเซียนั้นช่วยให้ ISS สามารถคงระดับความสูงในการโคจรไว้ ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ ก็เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า


แต่เดิมนั้นเครื่องยนต์ขับดันของรัสเซียจะถูกใช้เพื่อผลัก ISS เข้ามาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกหลังจากที่มันถูกปลดประจำการ ทว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้นาซาพยายามที่จะสร้างยาน deorbit ของตนเองขึ้นมาเผื่อกรณีที่รัสเซียถอนตัวจาก ISS เร็วกว่าที่กำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจนี้ได้

แผนการผลัก ISS ออกจากวงโคจรถูกเร่งเร้ามากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทำเนียบขาวและหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ต้องการให้นาซาเตรียมแผนสำรองไว้ ท่ามกลางบริบทความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับมอสโก

หลังจากปี 2030 เป็นต้นไป นาซาได้ให้ทุนสนับสนุนการก่อสร้างสถานีอวกาศเอกชนในวงโคจรระดับต่ำ เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงรักษาอิทธิพลในห้วงอวกาศต่อไป โดยมีค่ายอากาศยานแอร์บัส (Airbus) ของยุโรป และบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) ของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส์ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้

แม้โอกาสทางการตลาดสำหรับสถานีอวกาศเอกชนจะยังไม่เป็นที่เข้าใจกันมากนัก แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่าการเตรียมทางเลือกเชิงพาณิชย์ไว้เพื่อทดแทน ISS คือสิ่งจำเป็นสำหรับการแข่งขันกับสถานีอวกาศของจีน

ทั้งนาซาและจีนต่างพยายามแข่งกันอย่างเต็มที่ในด้านภารกิจสำรวจดวงจันทร์ โดยนาซานั้นทุ่มเทงบประมาณในด้านนี้หลายพันล้านดอลลาร์ และจับมือเป็นหุ้นส่วนกับหลายประเทศรวมถึง SpaceX เพื่อที่จะพามนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งหลังจากที่ทำสำเร็จมาแล้วในปี 1972

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น