xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาแล้ว! แผนการนำเอฟ-16 ไปประจำนอกยูเครน ‘ทำเนียบขาว’ แถลงชัดเจน หลัง ‘รัสเซีย’ ขู่หนักสงครามจะลุกลามบานปลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ แล่นอยู่ที่รันเวย์หลังร่อนลงจอด ขณะที่อีกลำหนึ่งซึ่งอยู่บนฟ้ากำลังเตรียมตัวลงติดตามมา ในระหว่างการซ้อมรบร่วมของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ณ ฐานทัพอากาศคลาร์ก ซึ่งเป็นฐานทัพเก่าของสหรัฐฯ ในเมืองแองเจลิสซิตี้ จังหวัดปัมปังกา ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2023 ทั้งนี้ สหรัฐฯ และหลายชาติพันธมิตรนาโตกำลังจัดส่งเครื่องบินรุ่นนี้หลายสิบลำไปให้ยูเครน
เครื่องบินรบเอฟ-16 ที่วอชิงตันกำลังจัดส่งไปให้เคียฟ จะประจำอยู่ในดินแดนของยูเครน ไม่ใช่ในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นรัฐสมาชิกองค์การนาโต เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ประกาศเรื่องนี้ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ข่าวพีบีเอส (PBS) ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวทั้งจากสื่อรัสเซียและสื่อยูเครน

อาร์ที สื่อของทางการรัสเซียบอกว่า ซัลลิแวนเปิดเผยแผนการนี้กับพีบีเอส หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ลงนามกันในข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีอายุ 10 ปีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสำคัญของข้อตกลงฉบับนี้ วอชิงตันให้คำมั่นสัญญาที่จะหนุนหลังเคียฟอย่างต่อเนื่องในการสู้รบขัดแย้งกับมอสโก

เซเลนสกี ประกาศภายหลังการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวว่า สหรัฐฯ ได้ให้สัญญาที่จะจัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ยูเครน ไม่ใช่เพียงแค่พวกระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แพตริออต” เท่านั้น แต่ยังมีพวกเครื่องบินขับไล่ไอพ่น “เป็นฝูงๆ” ซึ่งประกอบด้วย เอฟ -16 ตลอดจนเครื่องบินรุ่นอื่นๆ

นอกจากสหรัฐฯแล้ว ยังมีเบลเยียม เดนมาร์ก นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาจัดส่งเครื่องบินเอฟ-16 ซึ่งรวมๆ กันแล้วอาจจะเป็นจำนวนถึง 60 ลำ ให้แก่ยูเครน ภายในสิ้นปีนี้ โดยที่เคียฟได้พูดเอาไว้ในหลายๆ วาระโอกาส บ่งชี้ว่าเครื่องบินขับไล่ซึ่งฝ่ายตะวันตกจัดส่งให้เหล่านี้ อาจจะไปประจำอยู่นอกยูเครน ในดินแดนของพวกประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกนาโต ซึ่งจะทำให้เครื่องบินเหล่านี้อยู่ใน “ความปลอดภัย”

ขณะที่รายงานของสำนักข่าวแห่งชาติชาวยูเครน (Ukrainian National News หรือ UNN) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อถูกผู้สัมภาษณ์ของพีบีเอสถามว่า “ยูเครนได้บ่งชี้แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะว่า เอฟ-16 ที่พวกเขาจะเริ่มได้รับในอนาคตอันใกล้นี้จะถูกนำไปประจำอยู่นอกยูเครน ไม่ทราบว่าตามแผนการดังกล่าว จะนำเอา เอฟ-16 ไปประจำการในประเทศนาโตรายหนึ่งใช่หรือไม่?

ซัลลิแวนตอบว่า ตามแผนการแล้วจะมีการเอา เอฟ-16 เหล่านี้ไปไว้ในยูเครน และตามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีที่ท่านประธานาธิบดี (คือ โจ ไบเดน) กับประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้ลงนามกันไป ก็ยิ่งเน้นย้ำในเรื่องนี้ นั่นคือเราต้องการช่วยเหลือยูเครนให้มีสมรรถนะนี้ (มีเอฟ-16) มันจึงควรเป็นสมรรถนะที่ตั้งประจำอยู่ในยูเครน

ทางด้านยูโรเมดาน เพรส (Euromaidan Press) สื่อยูเครนอีกรายหนึ่งรายงานว่า ก่อนที่ซัลลิแวนออกมาบอกกับพีบีเอสคราวนี้ เซอร์ฮีย์ โฮลุบต์ซอฟ (Serhiy Holubtsov) ผู้บัญชาการด้านการบิน แห่งกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครน เคยออกมาพูดว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 จำนวนหนึ่งที่พวกชาติหุ้นส่วนกำลังส่งมอบมาให้ตามความต้องการของกองทัพยูเครนนั้น จะถูกนำไปเก็บที่ฐานทัพอากาศแห่งต่างๆ ซึ่งมีความปลอดภัย นอกประเทศยูเครน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินเหล่านี้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของฝ่ายรัสเซีย

ตามการแถลงของ โฮบุบต์ซอฟ สนามบินต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งยุทโธปกรณ์ทางการบินของยูเครนกำลังไปรวมพลกันอยู่ในเวลานี้ ได้ถูกรัสเซียโจมตีแทบจะทุกคืนทั้งจากโดรนและจากขีปนาวุธร่อน รวมแล้วหลายสิบลูก เวลาเดียวกัน ผู้บัญชาการด้านการบินแห่งกองทัพอากาศยูเครนผู้นี้ บอกด้วยว่า ยูเครนเวลานี้มีสนามบินจำนวนหนึ่งสำหรับรองรับ เอฟ-16 อยู่แล้ว และทางกองทัพทราบแล้วถึงจำนวนของเครื่องบินที่จะได้นำเข้าประจำการในปีนี้

ยูโรเมดาน เพรส รายงานด้วยว่า ผู้บัญชาการกองทัพยูเครน โอเลคซานดร์ ซีร์สกี (Oleksandr Syrskyi) แถลงระบุว่า รัสเซียกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ที่มุ่งเปิดการรุกอย่างดุเดือดเข้มข้นและขยายการปฏิบัติการสู้รบ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้กองกำลังของฝ่ายยูเครนอ่อนล้าก่อนการมาถึงของเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16

ตามปากคำของ ซีร์สกี กองทัพรัสเซียเข้าใจดีว่าการป้องกันทางอากาศของยูเครนจะมีความแข็งแรงมากขึ้นอย่างสำคัญ ด้วยการเพิ่มเติมเข้ามาของ เอฟ-16 จึงเป็นการลดทอนโอกาสการประสบความสำเร็จของรัสเซีย

ทั้งนี้ ฝ่ายยูเครนคาดหมายว่า เอฟ-16 ลำแรกๆ จะมาถึงยูเครนในฤดูร้อนนี้ โดยเป็นเครื่องบินที่จัดส่งมาให้จากเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ และเดนมาร์ก

อย่างไรก็ตาม ยูโรเมดาน เพรส รายงานด้วยว่า ยูเครนได้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่า สหรัฐฯ “กำลังจงใจชะลอ” การฝึกนักบินยูเครนให้สามารถบิน เอฟ-16 ได้ ซึ่งเรื่องนี้เองเป็นเหตุผลที่ทำไมยูเครนจะยังไม่มีนักบินที่ได้รับการฝึกแล้วเป็นจำนวนเพียงพอที่จะขึ้นบินเครื่อง เอฟ-16 ที่จะได้รับมาทั้งหมดได้เมื่อถึงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ วอชิงตันอธิบายกับเคียฟว่า มีหลายประเทศที่ต่อแถวอยู่หน้าพวกนักบินยูเครนสำหรับสิทธิในการเข้ารับการฝึก โดยที่สหรัฐฯ ไม่สามารถทำผิดข้อตกลงผูกพันที่มีอยู่กับประเทศเหล่านั้นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาร์ทีรายงานรายละเอียดว่า อเล็กซานดรา อุสติโนวา (Aleksandra Ustinova) ประธานคณะกรรมาธิการจัดหาอาวุธของรัฐสภายูเครน ได้กล่าวหาในระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะ ไทมส์ ของสหราชอาณาจักร ซึ่งนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯกำลัง “แก้ตัว” สำหรับการที่ตนเองล้มเหลวไม่อาจเตรียมการเพื่อให้มีนักบินยูเครนในจำนวนเพียงพอขึ้นบิน เอฟ-16

อาร์ทีบอกว่า เวลานี้พวกนักบินยูเครนกำลังได้รับการฝึกที่สหรัฐฯ และเดนมาร์ก ขณะที่มีโปรแกรมฝึกอีกโปรแกรมหนึ่งวางแผนจัดขึ้นที่โรมาเนีย ทว่ายังคงไม่ได้เริ่มต้นกันเลย

อุสติโนวาบอกกับเดอะไทมส์ว่า จนถึงเวลานี้มีนักบินยูเครนเพียง 8 คนเท่านั้นที่เข้ารับการฝึกในสหรัฐฯ ณ ฐานทัพกองกำลังรักษาดินแดนทางอากาศแห่งชาติมอร์ริส (Morris Air National Guard Base) ในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา ขณะทีอีก 12 คนกำลังฝึกอยู่ที่เดนมาร์ก

เธอกล่าวว่า ความล่าช้าในการเตรียมการเช่นนี้หมายความว่า น่าจะมีนักบินยูเครนที่ได้รับการฝึกอย่างเต็มที่สำหรับขึ้นบิน เอฟ-16 ภายในสิ้นปีนี้เพียงแค่ 20 คน โดยที่คำขอของยูเครนก่อนหน้านี้ให้สหรัฐฯ ช่วยจัดนักบินยูเครนเข้าฝึกในโครงการเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10 คน ได้ถูกปฏิเสธ

รายงานของอาร์ทีกล่าวอีกว่า เว็บไซต์ข่าว “โพลิติโก” (Politico) ของสหรัฐฯ รายงานไว้ก่อนหน้านั้นราว 1 สัปดาห์ว่า ความพยายามของยูเครนที่จะให้นักบินของตนได้เข้าฝึกบิน เอฟ-16 ในโครงการอบรมของฝ่ายตะวันตกเพิ่มเติมขึ้นอีก 30 คน ได้ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับสื่อรายนี้ว่า พวกนักบินยูเครนซึ่งอยู่ในโปรแกรมแล้ว ต้องประสบปัญหาอุปสรรคขวางกั้นทางด้านภาษากันอยู่ ขณะที่ฐานทัพที่ทูซอนสามารถฝึกนักบินได้ครั้งละ 12 คน และมีพวกนักบินจากประเทศอื่นๆ เข้าแถวรอกันอยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม อุสติโนวา กล่าวอย่างไม่พอใจกับเดอะไทมส์ โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุผลของฝ่ายสหรัฐฯ สำหรับการชะลอล่าช้า พร้อมกับเสนอแนะว่านี่คือความจงใจของอเมริกา

“เหตุผลพวกนี้มันไม่ใช่ข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก มันเป็นคำแก้ตัว และพวกเขามีคำแก้ตัวออกมาอยู่เรื่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า” เธอย้ำ พร้อมกับสันนิษฐานว่า ความล่าช้าในการฝึกนักบินยูเครนเช่นนี้ น่าจะมีแรงจูงใจจากการที่วอชิงตันหวาดกลัวว่า การปรากฏตัวออกมาของ เอฟ-16 สหรัฐฯ กันอย่างใหญ่โตพร้อมเพรียงในการสู้รบขัดแย้งที่ยูเครน อาจถูกมอสโกมองว่าคือการผนวกรวมเอายูเครนเข้าไปอยู่ในนาโต “นี่มันคือเหตุผลทางการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ” เธอกล่าวหา

สมาชิกรัฐสภาหญิงยูเครนผู้นี้เน้นว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้ เอฟ-16 เพื่อผ่อนเพลาประสิทธิภาพของการที่ฝ่ายรัสเซียกำลังใช้อุปกรณ์ติดตั้งกับลูกระเบิดธรรมดาจนทำให้กลายเป็นระเบิดร่อน (glide bomb) ซึ่งสามารถเข้าโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และกลายเป็นอาวุธอย่างหนึ่งซึ่งก่อความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพในการสู้รบขัดแย้งที่ยูเครน “ระเบิดพวกนี้มีขนาดมหึมาตั้งแต่ 500 กิโล จนถึง 1,500 กิโล” และสำหรับเคียฟแล้ว หนทางแก้ไขอย่างเดียวที่จะ “สอยให้มันร่วงลงได้คือ การใช้เครื่องบินเข้าต่อสู้กับเครื่องบิน”

รายงานของอาร์ทีตบท้ายว่า มอสโกได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การที่ฝ่ายตะวันตกจัดส่งอาวุธไปให้ยูเครน จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางของการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ได้ มีแต่จะทำให้มันยืดเยื้อนานออกไป ทำให้มีการนองเลือดเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

โดยที่ อันเดรย์ คาร์ตาโปลอฟ (Andrey Kartapolov) ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของสภาล่างรัสเซีย ได้ออกมาตอบโต้การแถลงของฝ่ายเคียฟเกี่ยวกับแผนการที่จะนำเอา เอฟ-16 บางส่วนไปประจำอยู่นอกยูเครนว่า หากเครื่องบินเหล่านี้บินขึ้นจากพวกฐานทัพในต่างประเทศ และถูกใช้ในการโจมตีกองกำลังของฝ่ายรัสเซียแล้ว ทั้งเครื่องบินเหล่านี้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เครื่องบินเหล่านี้ประจำการอยู่ จะได้รับการพิจารณาว่าเป็น “เป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย” สำหรับการเข้าโจมตีของรัสเซีย

(ที่มา : อาร์ที, สำนักข่าวแห่งชาติชาวยูเครน, ยูโรเมดาน เพรส)
กำลังโหลดความคิดเห็น