(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Israel’s attack on Iran: what we know so far
By STEPHEN BRYEN
20/04/2024
รายงานข่าวระบุว่าอิสราเอลพุ่งเป้าเล่นงานสถานที่ติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งกำลังทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองอาคารทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านที่นาตันซ์ ขณะที่ผลลัพธ์เป็นอย่างไรยังไม่มีรายงานออกมา
กำลังทางอากาศของอิสราเอล ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นพวกโดรน ได้เข้าโจมตีฐานทัพอากาศแห่งหนึ่ง หรือไม่ก็พวกอาคารสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ในเมืองอิสฟาฮาน (Isfahan) ของอิหร่าน
ฐานทัพอากาศแห่งดังกล่าวไม่ได้ถูกระบุชื่อออกมาอย่างเป็นทางการ แต่มันน่าจะเป็นฐานทัพอากาศเฮซา (Hesa Air Base) ฐานทัพอากาศแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบริษัทการผลิตเครื่องบินอิหร่าน (Iran Aircraft Manufacturing Company) ซึ่งเป็นผู้สืบต่อใช้สอยกลุ่มอาคารบริษัทเบลล์เฮลิคอปเตอร์ (Bell Helicopter complex)ในสมัยพระเจ้าชาห์ของอิหร่าน ที่สร้างมานานแล้วย้อนหลังไปได้ถึงปี 1974 สิ่งปลูกสร้างแห่งนี้มีขนาดใหญ่โตมหึมา และปัจจุบันถูกใช้ดำเนินการผลิตอย่างเต็มกำลังทั้งเฮลิคอปเตอร์ 214 ของเบลล์ และโมเดลอื่นๆ ตลอดจนพวกรุ่นที่ดัดแปลงขึ้นมาเองในท้องถิ่น
ฐานทัพอากาศแห่งนี้ยังมีบทบาทในการปกป้องคุ้มครองกลุ่มอาคารเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมนาตันซ์ (Natanz Uranium Enrichment facility) ที่อยู่ใกล้ๆ กัน รวมทั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตาซึ่งมีที่มาจากจีน
มีข้อมูลข่าวสารซึ่งรายงานโดย เยรูซาเลมโพสต์ (Jerusalem Post) สื่อของอิสราเอลว่า อิสราเอลพุ่งเป้าโจมตีสถานที่ตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทำหน้าที่คุ้มครองอาคารนาตันซ์ ดังเห็นได้จากภาพถ่ายจากอากาศที่นำมาแสดงข้างล่างนี้ เมื่อพิจารณาจากความสำคัญของการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมที่มีอยู่กับโปรแกรมอาวุธของอิหร่านแล้ว สถานที่แห่งนี้น่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองด้วยระบบการป้องกันภัยทางอากาศ เอส-300 ที่ผลิตในรัสเซีย เรายังไม่ทราบว่าสถานที่แหล่งนี้ถูกทำลายไปหรือไม่
(ดูเพิ่มเติม รายงานของเยรูซาเลมโพสต์ได้ที่ https://www.jpost.com/israel-hamas-war/2024-04-19/live-updates-797867)
นอกจากนั้นแล้ว เจนนิเฟอร์ ไดเออร์ (Jennifer Dyer) ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ด้านภูมิยุทธศาสตร์ (geostrategic analyst) ระดับท็อปคนหนึ่ง รายงานว่าอิสราเอลยังอาจจะโจมตีการประชุมระดับสูงของกลุ่มฮีซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในกรุงแบกแดด รวมทั้งโรงงานขีปนาวุธแห่งหนึ่งในจังหวัดบาบิล (Babil) ของอิรัก เธอยังรายงานอีกว่าการโจมตีในซีเรียบอาจจะเล็งเป้าหมายไปที่โรงงานผลิตขีปนาวุธแห่งหนึ่ง
นอกจากนั้นแล้วอิสราเอลยังดำเนินปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในเลบานอน และดินแดนเวสต์แบงก์
ตามรายงานที่ออกมาหลายกระแส อิหร่านได้ปิดทำการสิ่งปลูกสร้างทางด้านนิวเคลียร์ของตนตลอดจนสนามบินแห่งอื่นๆ รวมทั้งท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหญ่ในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน อย่างไรก็ดี ภายหลังการโจมตีผ่านไปสองสามชั่วโมง คำสั่งปิดก็ถูกยกเลิก และการจราจรทางอากาศของพลเรือนตามปกติก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ไม่มีรายงานการบาดเจ็บล้มตายใดๆ จากการโจมตีของอิสราเอล
สหรัฐฯแถลงว่าได้รับแจ้งจากอิสราเอลเรื่องจะมีการโจมตีตั้งแต่เมื่อ 4 วันก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนไม่ได้มีการแจ้งเป้าหมายที่จะเข้าโจมตีให้แก่ทางเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ)
เครื่องบินอิสราเอลไม่สามารถออกปฏิบัติการในภูมิภาคแถบนี้ได้ หากปราศจากการร่วมมือประสานงานในบางระดับกับสหรัฐฯ กระนั้นก็ตามที เพนตากอนก็แถลงระบุอย่างชัดเจนว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการโจมตีนี้ และสหรัฐฯก็ไม่ได้ออกมาแถลงประณามใดๆ ต่อการโจมตีเช่นกันในเฉพาะหน้านี้
ในการปฏิบัติการที่ถือเป็นการประสานเกี่ยวข้องกับการโจมตีหลัก อิสราเอลยังได้ทำลายสถานที่ตั้งเรดาร์ทางทหารของซีเรีย 2 แห่งซึ่งมีบางฝ่ายระบุว่าอาจทำหน้าที่คอยประสานงานเรื่องการติดตามข้อมูลเส้นทางกับฝ่ายอิหร่าน ปกติแล้ว อิสราเอลจะคอยแจ้งให้ฝ่ายรัสเซียทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติการต่างๆ เหนือน่านฟ้านซีเรีย ภายใต้ข้อตกลงเพื่อลดความขัดแย้งกันที่มีผลบังคับใช้อยู่ สำหรับกรณีนี้รัสเซียได้รับแจ้งหรือไม่ยังไม่เป็นที่ทราบกัน
ฝ่ายอิหร่านพยายามที่จะสอยเครื่องบินและโดรนของอิสราเอลให้ร่วง ด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศของตน ซึ่งหลักๆ เลยก็คือ เอส-300 แต่จากข้อมูลซึ่งเป็นที่ทราบกันจนถึงเวลานี้ ส่อแสดงให้เห็นว่าการป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านนั้นไม่มีประสิทธิภาพ
ปฏิกิริยาในช่วงแรกๆ จากฝ่ายอิหร่านคือการลดทอนความสำเร็จของการโจมตีคราวนี้ และบ่งชี้ไปในทำนองว่าการระเบิดครั้งต่างๆ น่าจะเกิดขึ้นจากจากการกระทำในท้องถิ่นเอง ไม่ใช่จากอากาศยานของอิสราเอล อิหร่านยังแสดงท่าทีให้เป็นที่ทราบกันว่าตนไม่มีความตั้งใจที่จะดำเนินปฏิบัติการทางทหารใดๆ กับอิสราเอลต่อไปอีก
มันอาจจะเป็นไปได้ว่า อิสราเอล ซึ่งนอกเหนือจากกำลังพยายามที่จะผ่อนคลายแรงกดดันภายในประเทศอันหนักหน่วงที่เรียกร้องต้องการให้ต้องตอบโต้การโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรงใหญ่โตของอิหร่านใส่อิสราเอลแล้ว ยังกำลังส่งข้อความไปถึงฝ่ายอิหร่านด้วยว่าอิหร่านมีความเปราะบางขนาดไหนเมื่อต้องเผชิญกับกองกำลังทางอากาศของอิสราเอล นอกจากนั้นแล้ว อิสราเอลยังอาจจะกำลังทดสอบดูว่าการที่อิหร่านยังคงออกมาข่มขู่อยู่เรื่อยๆ ที่จะโจมตีอิสราเอลอีกครั้งหนึ่งนั้นเป็นภัยคุกคามที่แท้จริง –หรือเป็นเพียงเสียงตะคอกเอ็ดตะโรเท่านั้น
สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ
ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน