รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลเสนอรัฐบาลทางเลือกปกครองกาซาแทนฮามาส แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ใครหรือกลุ่มใดจะกล้าหาญมาท้าทายนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุอิสราเอลเคยพยายามใช้วิธีนี้มาแล้ว ทว่ามันเหมือนเป็นหนทางแห่งการฆ่าตัวตายสำหรับพวกที่ตกปากรับคำมารับหน้าที่ผู้นำท้องถิ่นแทนฮามาส
การแสดงความคิดเห็นของโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล เกิดขึ้นขณะที่สงครามกาซาที่ล่วงเลยมานานถึง 8 เดือนกำลังเผชิญความไม่แน่นอนครั้งใหม่ โดยทางฝ่ายนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู นั้นถูกกดดันอย่างหนักจากชาวอิสราเอลจำนวนมากให้ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงฉบับใหม่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา เสนอเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกันพวกพันธมิตรปีกขวาจัดของเนทันยาฮู กลับข่มขู่ล้มรัฐบาลผสมชุดนี้ ถ้าเนทันยาฮูยอมรับข้อเสนอดังกล่าว
กัลแลนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สมาชิกคณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลที่เมื่อเร็วๆ นี้เรียกร้องให้รัฐบาลเสนอแผนหลังสงครามโดยละเอียดสำหรับกาซา ระบุว่า อิสราเอลต้องหาตัวเลือกปกครองกาซาแทนฮามาส โดยกรอบโครงแผนการนี้รวมถึงการแยกพื้นที่ การกำจัดเส้นสายของฮามาสในพื้นที่เหล่านั้น และการนำกองกำลังอื่นๆ เข้าสู่กาซาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลทางเลือก
กัลแลนต์แจงว่า แผนการดังกล่าวจะตอบสนองเป้าหมายของอิสราเอลในการขจัดอำนาจของฮามาสในกาซาทั้งด้านการทหารและการปกครอง และช่วยตัวประกันที่ถูกจับไปตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ที่ฮามาสจู่โจมเข้าไปโจมตีในอิสราเอล และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกาซา
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอิสราเอลตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเอพีว่า กัลแลนต์หวังว่า พื้นที่ซึ่งถูกโดดเดี่ยวและปราศจากฮามาสในกาซาจะกลายเป็นศูนย์กลางรัฐบาลท้องถิ่น และกำหนดกองกำลังที่จะช่วยให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ปกครองกาซาในระยะยาวได้
เจ้าหน้าที่คนเดิมเพิ่มเติมว่า อิสราเอลต้องการผู้นำท้องถิ่นที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล เนื่องจากกัลแลนต์เชื่อว่า “คนปาเลสไตน์ควรเป็นผู้ปกครองคนปาเลสไตน์ด้วยกัน” และอิสราเอลจะอำนวยความสะดวกให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าสู่พื้นที่เหล่านั้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งกองกำลังท้องถิ่นรับผิดชอบการแจกจ่ายความช่วยเหลือเพื่อช่วยเสริมสร้างอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น
ทว่า ไมเคิล มิชเทน นักวิเคราะห์ในเรื่องปาเลสไตน์ของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ และอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหารของอิสราเอล ท้วงว่า แนวทางดังกล่าวเคยถูกนำมาใช้และประสบความล้มเหลวมาก่อน พร้อมสำทับว่า ไม่เคยมีชาวปาเลสไตน์ซึ่งกล้าพอที่จะเสนอตัวเองเป็นตัวเลือกแทนฮามาส
เขายังบอกอีกว่า แนวคิดของกัลแลนต์เท่ากับการให้พวกผู้นำท้องถิ่นปฏิบัติภารกิจฆ่าตัวตาย เนื่องจากฮามาสข่มขู่ทุกคนที่ร่วมมือกับรัฐบาลอิสราเอล และแม้นักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้บอบช้ำหนักจากสงครามตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังมีอำนาจและอิทธิพลอย่างมากต่อประชาชนในกาซา
มิชเทนตั้งข้อสังเกตว่า อิสราเอลเคยลองใช้แนวทางนี้มาแล้วในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ด้วยการตั้ง “วิลเลจ ลีกส์” ที่ให้อำนาจแก่ผู้นำปาเลสไตน์ท้องถิ่น ทว่า คนเหล่านั้นถูกฮามาสหมายหัวเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับอิสราเอลและพบจุดจบเลวร้ายมาก
เขาเสริมว่า “กองกำลังทางเลือก” ที่อิสราเอลพยายามจัดตั้งจะเปราะบางเกินไป เว้นแต่อิสราเอลยังคงปักหลักอยู่ในกาซา
ที่ผ่านมา เนทันยาฮูระบุว่า อิสราเอลจะยังคงควบคุมความมั่นคงในกาซาต่อไป แต่จะมอบหมายให้ชาวปาเลสไตน์จัดตั้งคณะบริหารพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับฮามาสหรือรัฐบาลปาเลสไตน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกที่ปกครองดินแดนยึดครองเวสต์แบงก์ในขณะนี้ นอกจากนั้น เนทันยาฮูยังคัดค้านการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์
ทางด้านอเมริกาที่เป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของอิสราเอลนั้น เสนอให้รัฐบาลปาเลสไตน์ปกครองกาซาโดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอาหรับและมุสลิม
ในอีกด้านหนึ่ง เวลานี้อเมริกายังคงกดดันอิสราเอลให้รับข้อเสนอหยุดยิงล่าสุดของไบเดน ซึ่งในเฟสแรกที่กินระยะเวลา 6 สัปดาห์และครอบคลุม “การหยุดยิงอย่างเต็มที่และสมบูรณ์ การถอนกำลังของอิสราเอลออกจากพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นในกาซา และการปล่อยตัวประกันอิสราเอลจำนวนหนึ่งแลกกับการปล่อยนักโทษปาเลสไตน์หลายร้อยคน
ไบเดนยอมรับว่า การเดินหน้าเข้าสู่เฟสต่อไปของข้อตกลงนี้ยังต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมอีก
ขณะที่ จอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี ของอเมริกาเมื่อวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) ว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นของอิสราเอล อเมริกาจีนคาดหวังสูงว่า ถ้าฮามาสตอบตกลง อิสราเอลจะตกลงด้วยเช่นกัน
(ที่มา : เอพี)