เป็นสัญญาณที่ชัดที่สุดจากปากของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮัด รมต.ต่างประเทศซาอุฯ ที่ให้สัมภาษณ์เอกซ์คลูซีฟทางซีเอ็นเอ็นกับพิธีกรมุสลิมชื่อดังชาวอเมริกัน นายฟารีด ซาคาเรีย ว่า ซาอุฯ จะยังเดินหน้าเปิดสัมพันธ์กับอิสราเอล แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า อิสราเอลต้องยอมรับให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์เท่านั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นายเนทันยาฮู นายกฯ รัฐบาลยามสงครามของอิสราเอลได้ประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่า อิสราเอลจะไม่ยอมให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ เพราะจะยังคงเป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอล แม้ทางสหรัฐฯ โดยปธน.ไบเดน และรมต.ต่างประเทศบลิงเคน จะออกมากดดันผ่านการแถลงต่อชาวโลกว่า หลังจบสงครามกับฮามาสแล้ว ดินแดนปาเลสไตน์ โดยเฉพาะฉนวนกาซาจะไม่ใช่อิสราเอลเข้าไปยึดครอง (แบบที่ได้เกิดขึ้นหลังสงคราม 6 วันเมื่อปี 1967 คือ เมื่อ 50 ปีมาแล้ว) อีกต่อไป แต่จะเป็นรัฐบาลปาเลสไตน์ (ซึ่งสหรัฐฯ วาดหวังจะให้ PA หรือองค์การปาเลสไตน์ที่รามาลาห์-ที่ผ่านการปฏิรูปให้โปร่งใสไร้คอร์รัปชัน และมีประสิทธิภาพในการบริหารมากยิ่งกว่าเก่า) จะเป็นฝ่ายที่เข้ามาบริหารปกครองกาซา โดยจะได้มีการช่วยเหลือรวมทั้งคำปรึกษาและการยอมรับจากเหล่าประเทศอาหรับทั้งปวง ที่จะมาช่วยฟื้นฟูกอบกู้ก่อสร้างกาซาขึ้นมาอีกครั้ง และจะให้เหล่าชาวกาซา ที่ถูกบังคับให้เป็นผู้ต้องเร่ร่อนให้ทิ้งบ้านช่องที่พังทลายจากการระดมถล่มระเบิดจากอิสราเอล ให้สามารถกลับมาที่บริเวณทางตอนเหนือและตอนกลางของกาซาที่ทางตนเคยมีบ้านช่องพำนักอยู่ก่อน
เสียงประสานจากเหล่าประเทศอาหรับในการให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ ที่จะต้องมีขอบเขตที่แน่นอน และเป็นธรรม(-ไม่ใช่มีแค่ 5% อย่างเช่นในปัจจุบัน...หลังจากอิสราเอลเข้าครอบครองและขยายขอบเขตอย่างโหดเหี้ยม ทั้งในรามาลาห์, เยรูซาเล็ม และแน่นอนที่กาซา) เริ่มมีดังขึ้นๆ เพราะก่อนหน้านั้นดูจะแผ่วเบา จนขนาดที่ทรัมป์ (โดยลูกเขยชาวยิวคุชเนอร์) ได้ทำการจัดตั้งข้อตกลงอับราฮัมสำเร็จปลายสมัยทรัมป์ และได้มีประเทศอาหรับถึง 6 ประเทศเข้าร่วมโดยมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอลคือ อียิปต์, จอร์แดน, โมร็อกโก, ยูเออี, บาห์เรน และซูดาน ซึ่งในข้อตกลงนี้ ไม่มีการเอ่ยถึงการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์แต่อย่างใด
จริงๆ แล้ว แรงกดดันให้ต้องมีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์นี้ (โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำบ่าท่วมมัสยิดอัล-อักซอเมื่อ 7 ตุลาคม) จะมีอย่างหนักแน่นจากประเทศมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอาหรับด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นจากอิหร่านและตุรเคีย ที่ประกาศชัดว่า ขบวนการฮามาสไม่ใช่ขบวนการก่อการร้ายอย่างที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้จงใจมอบตำแหน่งนี้ให้ แต่ทว่าเป็นขบวนการกู้ชาติต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์จากการถูกยึดครองอย่างโหดร้าย และดำเนินการแบ่งแยกเหยียดผิวอย่างโหดเหี้ยมจากอิสราเอล พวกเขาเป็นผู้ต้องการปลดแอกโหดของผู้นำอิสราเอลที่เป็นผู้ก่อการร้ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างหาก
ขนาดที่กลุ่มชาวฮูตีที่เยเมน ยังออกมารังควานเรือสินค้าของฝ่ายตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลเพียงเพื่อให้อิสราเอลหยุดถล่มกราดยิงชาวปาเลสไตน์จนตายไปกว่า 25,000 คน โดยได้ฆ่าเด็กไปถึง 1 หมื่นกว่าคนใน 3 เดือน และบ้านเรือนพังพินาศ รวมทั้งโรงพยาบาล, โรงเรียน, บ่อน้ำถูกทำลายหมดเพียงเพื่อให้ล้างเผ่าพันธุ์
รวมทั้งการที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ หลังสภาลงคะแนนให้ปิดสถานทูตอิสราเอลในแอฟริกาใต้ ได้ฟ้องไปที่ศาลโลก ICJ ว่า ให้คุ้มครองชั่วคราว ที่จะให้อิสราเอลหยุดยิงถล่มฆ่าชาวกาซา (กำลังขยายลามมาที่รามาลาห์) ทันที เพื่อรักษาชีวิตชาวกาซาไว้บ้าง และให้ดำเนินการสืบสวนการที่รัฐบาลอิสราเอลได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
และสองประเทศในอเมริกากลาง-ใต้คือ เม็กซิโกและชิลี (ที่อดีตเผด็จการโหดนายพลปิโนเชต์ เคยถูกศาล ICC ล่าตัวในฐานะอาชญากรสงครามที่กระทำอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ) ได้ฟ้องต่อศาล ICC กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยผู้นำอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์
และล่าสุด การประชุมรมต.ต่างประเทศของสหภาพยุโรป เสียงเริ่มแตกในการสนับสนุนอิสราเอลต่อการทำสงครามหลัง 7 ตุลาคม คือ สเปน โดยนายโจเซฟ บอร์เรลล์ เป็นผู้นำเรียกร้องอย่างเข้มข้นให้มีการจัดตั้ง (อย่างเป็นรูปธรรม) รัฐปาเลสไตน์ ถึงขนาดรมต.ต่างประเทศหญิงของเยอรมนี (เธอเป็นหัวหน้าพรรคกรีน) เริ่มออกมาสนับสนุนข้อเสนอนี้ แม้สวนทางกับจุดยืนของอิสราเอล
กรณีของเยอรมนีนายกฯ โอลาฟ ชอลซ์ ดูจะมีอาการกลัวบาปที่เผด็จการฮิตเลอร์ได้ฆ่าชาวยิวตายไปถึง 6 ล้านคนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2; และหลัง 7 ตุลาคม ได้ยืนกรานสนับสนุนอิสราเอลไม่ให้หยุดยิงที่กาซามาตลอด เพื่อให้ปราบฝ่ายฮามาสให้สิ้นซาก
แต่เมื่อผ่านมา 100 วันกับความเหี้ยมโหดที่รัฐบาลอิสราเอลกลายเป็นผู้ก่อการร้ายแบบฮิตเลอร์เสียเอง (ความจริงเพิ่งถูกเปิดเผยกระจ่างชัดต่อชาวโลกถึงความโหดร้ายของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ที่ตนเข้าไปยึดครองตลอด 50 ปีที่ผ่านมา;-จริงๆ แล้วตลอด 75 ปีตั้งแต่ 1948 ด้วยซ้ำ!!) จนรมต.ต่างประเทศเยอรมนีก็ต้องจำยอมให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์เคียงคู่รัฐอิสราเอลจะเป็นทางออกสำหรับสันติภาพที่ดินแดนนี้
ยังมีเหล่าชาวอิสราเอลที่เหลืออดเต็มกลืนกับรัฐบาลเหยี่ยวโหดของนายเนทันยาฮู ที่ออกมาเดินขบวนปักหลักที่หน้าบ้านนายเนทันยาฮูเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กดดันให้ออกไป และให้จัดการเลือกตั้งใหม่เพราะบรรดาญาติของตัวประกันที่ถูกฮามาสจับไป อาจไม่มีโอกาสกลับมาพบหน้ากันอีกตราบเท่าที่ยังมีนายเนทันยาฮูเป็นนายกฯ และพวกเขาก็สนับสนุนการจัดตั้ง 2 รัฐเคียงข้างกันด้วย