xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งยัวะจัดวอชิงตันตามจองเวร‘หัวเว่ย’ไม่เลิก ระบุกลืนน้ำลายคำสัญญาที่จะไม่แยกเศรษฐกิจขาดจากกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา



เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Beijing: With Huawei curbs, US pushes ‘decoupling’
By JEFF PAO
08/05/2024

ถึงแม้ถูกสหรัฐฯแซงก์ชั่นมาตั้งแต่ปี 2019 แต่หัวเว่ยยังคงสามารถสร้างโมเมนตัมในภาคสมาร์ตโฟนให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการใช้ชิปาและระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง

หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ กำลังกลายเป็นศูนย์กลางของการสู้รบลองเชิงกันอีกยกหนึ่ง ในสงครามเทคระหว่างจีน-อเมริกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเพิ่งประกาศยกเลิกใบอนุญาตส่งออกบางฉบับที่เปิดทางให้สามารถจัดส่งชิปอเมริกันระดับไฮเอนด์ไปให้แก่หัวเว่ย และปักกิ่งก็ร้องเรียนว่าการที่วอชิงตันทำเช่นนี้ คือเท่ากับผิดคำมั่นสัญญาที่จะไม่พยายามหย่าร้างแยกขาดระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองออกจากกัน

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแจ้ง [1] กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์เมื่อวันอังคาร (7 พ.ค.) ว่า ได้ยกเลิกใบอนุญาตส่งออกบางฉบับที่เป็นการเปิดทางให้จัดส่งพวกเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันไปให้แก่หัวเว่ย

ขณะที่รายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ได้อ้างอิงผู้คนที่คุ้นเคยกับสถานการณ์กล่าวว่า การจำกัดกีดกั้นรอบล่าสุดนี้ส่งผลกระทบกระเทือนถึงการจัดส่งชิปสำหรับใช้ในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย

การสั่งห้ามไม่ให้ซัปพลายชิปสหรัฐฯครั้งใหม่คราวนี้ เกิดขึ้นหลังจากหัวเว่ยเปิดตัวแล็ปท็อปรุ่นที่สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์รุ่นแรกของบริษัท ซึ่งใช้ชื่อรุ่นว่า เมตบุ๊ก เอ็กซ์ โปร (MateBook X Pro) เมื่อวันที่ 11 เมษายน โดยที่ใช้โปรเซสเซอร์ คอร์ อัลตรา 9 (Core Ultra 9) ตัวใหม่จากบริษัทอินเทล (Intel)

พวกสมาชิกรัฐสภาของพรรครีพับลิกันวิพากษ์วิจารณ์คณะบริหารไบเดนที่ปล่อยให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา และเรียกร้องให้ยกเลิกใบอนุญาตส่งออกชิปไปให้แก่หัวเว่ยทั้งหมด

อินเทลระบุในรายงานส่งถึงตลาดหลักทรัพย์ [2] เมื่อวันพุธ (8 พ.ค.) ว่า จากมาตรการนี้จะทำให้ยอดขายของบริษัทติดลบแน่นอน โดยอินเทลกล่าวคาดหมายว่ารายรับของบริษัทสำหรับไตรมาสสองปีนี้ยังน่าจะอยู่ในระหว่าง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามที่ทำนายเอาไว้แต่เดิม ทว่าคงจะอยู่ต่ำกว่าขีดตรงกลางเสียแล้ว กระนั้นบริษัทคาดหมายว่าทั้งรายรับต่อหุ้นและผลกำไรต่อหุ้นของบริษัทสำหรับตลอดทั้งปี 2024 ยังน่าที่จะเติบโตขึ้นไปได้

สำหรับควอลคอมม์ (Qualcomm) แถลง [3] ในวันพุธ (8 พ.ค.) เช่นกันว่า ใบอนุญาตส่งออกให้แก่หัวเว่ยฉบับหนึ่งของบริษัทก็ถูกประกาศยกเลิกไปในคราวนี้เหมือนกัน

ในส่วนปฏิกิริยาจากทางการจีน โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวในคำแถลง [4] เมื่อวันพุธ (8 พ.ค.) ว่า “การกระทำเช่นนี้ของสหรัฐฯเป็นการผิดคำมั่นสัญญาอย่างสำคัญจากที่เคยรับรองเอาไว้ว่าไม่ได้มุ่งหาทางหย่าร้างแยกขาดจากจีน และไม่ได้มุ่งขัดขวางกีดกันการพัฒนาของประเทศจีน” โฆษกผูนี้กล่าวต่อไปว่า การกระทำเหล่านี้ยัง “ตรงกันข้ามอย่างชัดแจ้งกับการกล่าวอ้างของสหรัฐฯที่ว่าตนเองมีการให้คำจำกัดความเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอย่างเที่ยงตรงแม่นยำ”

“การที่สหรัฐฯจำกัดกีดกันการส่งออกผลิตภัณฑ์ชิปสำหรับผู้บริโภคพลเรือนแท้ๆ มายังประเทศจีน และการบังคับตัดขาดซัปพลายที่จัดส่งมายังบริษัทจีนซึ่งถูกระบุอย่างเฉพาะเจาะจงรายหนึ่งเช่นนี้ คือการแสดงออกของกรณีการใช้อำนาจบีบบังคับทางเศรษฐกิจอย่างชัดแจ้ง” โฆษกผู้นี้กล่าว “วิธีการเช่นนี้ไม่เพียงฝ่าฝืนกฎระเบียบองค์การการค้าโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างอันตรายอย่างร้ายแรงให้แก่ผลประโยชน์ของพวกบริษัทสหรัฐฯอีกด้วย”

ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เจรจาหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯในนครซานฟรานซิสโก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปักกิ่งก็คอยเตือนวอชิงตันอยู่เสมอให้กระทำตามคำมั่นสัญญาที่บอกว่า “ไม่แสวงหาทางหย่าร้างแยกขาดจากจีน และไม่มุ่งขัดขวางกีดกันการพัฒนาของจีน”

ทว่าเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ดำเนินการทบทวนแก้ไขกฎระเบียบการส่งออกชิป เพื่อทำให้จีนประสบความยากลำบากมากขึ้นอีกในการได้รับชิปปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐฯ ตลอดจนพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตชิป

เมื่อวันที่ 2 เมษายน สี บอกกับ ไบเดน ระหว่างการสนทนากับทางโทรศัพท์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯกำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะมีเสถียรภาพ แต่ก็มีปัจจัยเชิงลบบางประการเติบโตขยายตัวขึ้นมาด้วย เขากล่าวว่าเรื่องนี้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายต้องให้ความสนใจ

ส่วนแบ่งตลาดของหัวเว่ย

ย้อนหลังกลับไปในปี 2019 คณะบริหารทรัมป์ได้ใส่ชื่อของหัวเว่ยเข้าไปในบัญชีผู้ที่ต้องถูกจำกัดกีดกันทางการค้า ด้วยข้อหาว่าละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่านที่ประกาศใช้โดยสหรัฐฯ

ตั้งแต่ตอนนั้น บริษัทที่ตั้งฐานอยู่ในเมืองเซินเจิ้นแห่งนี้ยังถูกแบนไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android operating system) ของกูเกิล และชิป 5จี ของควอลคอมม์ ทว่ายังคงสามารถจัดหาจัดซื้อโปรเซสเซอร์ 4 จี ของควอลคอมม์ได้

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2020 หัวเว่ยได้แยกกิจการ [5] สมาร์ตโฟนแบรนด์ย่อย “ออเนอร์” (Honor) ของตนออกมาต่างหากเป็นอีกกิจการหนึ่ง ด้วยความมุ่งหมายที่จะเปิดทางให้กิจการแห่งนี้สามารถเข้าถึงชิปไฮเอนด์สหรัฐฯต่อไป

หลังจาก หัวเว่ย เปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่น เมตจ 60 ที่ใช้โปรเซสเซอร์ คิริน 9000เอส (Kirin 9000s) ที่ทางหัวเว่ยพัฒนาขึ้นมาเองเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก็มีกลุ่มสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกัน 10 คนออกมาเรียกร้องกรมการอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security หรือ BIS) ของกระทรวงพาณิชย์ ให้แบนการส่งออกข้าวของใดๆ ก็ตามให้แก่หัวเว่ย และให้แก่กิจการผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งก็คือ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนะล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp หรือ SMIC) ที่กลายเป็นผู้ผลิตชิปรายหลักให้แก่หัวเว่ย ตลอดจนพวกบริษัทในเครือของ 2 บริษัทนี้ ซึ่งรวมถึง ออเนอร์ ด้วย

ขณะที่ รัฐมนตรีพาณิชย์ จินา ไรมอนโด (Gina Raimondo) ของสหรัฐฯ แถลงในเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า รายงานข่าวที่ว่าหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการผ่าทางตันในเรื่องเกี่ยวกับชิป เป็นสิ่งที่ “รบกวนใจอย่างร้ายกาจ” เธอบอกว่ากระทรวงของเธอจะเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ และเพิ่มทรัพยากรเพื่อบังคับใช้ระบบควบคุมการส่งออกกับหัวเว่ย

หัวเว่ยขึ้นครองอันดับ 1 อีกครั้งหนึ่ง

เวลาเดียวกัน คานาลิส (Canalys) บริษัทวิเคราะห์ตลาดเทคโนโลยีซึ่งตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ ได้ระบุในรายงานการวิจัยฉบับหนึ่ง [6] ที่ออกมาเมื่อวันที่ 26 เมษายนว่า หัวเว่ยสามารถกลับขึ้นครองตำแหน่งอันดับ 1 ของผู้ผลิตสมาร์ตโฟนในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากมีผลประกอบการย่ำแย่มา 13 ไตรมาส

รายงานการวิจัยนี้กล่าวว่า การจัดส่งสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยภายในประเทศจีนเติบโตขึ้นถึง 70% ขึ้นสู่ระดับ 11.7 ล้านเครื่องในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คานาลิส บอกด้วยว่าสวนแบ่งตลาดของหัวเว่ยได้เพิ่มขึ้นเป็น 17% แล้ว ติดตามมาด้วยออปโป้ (16%), ออเนอร์ (16%), วีโว่ (15%), และ แอปเปิล (15%)

“การผลิตและการขาดแคลนซัปพลายของรุ่น เมต 60 ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรก ขับดันให้มันกลายเป็นตัวขับดันสำคัญที่สุดของอัตราการเติบโตโดยรวมของทั่วทั้งหัวเว่ย” โทบี้ จู (Toby Zhu) นักวิเคราะห์อาวุโสของคานาลิส เขียนเอาไว้เช่นนี้ “นอกเหนือจากพวกผลิตภัณฑ์รุ่นไฮเอนด์แล้ว หัวเว่ยยังเปิดตัวพวกรุ่น โนวา 12 (Nova 12 series) ในเดือนธันวาคม ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ ฮาร์โมนีโอเอส เวอร์ชั่น 4.0 (HarmonyOS 4.0), ขยายชิปเซต คิริน (Kirin chipset) ไปใช้ในไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น, และเพิ่มพูนผลประกอบการในกลุ่มสมาร์ตโฟนราคาระดับปานกลางอย่างประสบความสำเร็จ”

จู บอกว่า ด้วยการขยายระบบนิเวศของตนอย่างต่อเนื่อง ระบบปฏิบัติการฮาร์โมนี ของหัวเว่ย กำลังผงาดขึ้นมาเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 โดยสามารถแหวกทำลายการแข่งขันแต่เดิมในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีการแข่งขันแค่เพียงระหว่าง 2 ระบบปฏิบัติการ นั่นคือ แอนดรอยด์ และไอโอเอส ของไอโฟน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ไฮซิลิคอน (HiSilicon) ที่เป็นกิจการในเครือของหัวเว่ย ยังได้เปิดตัว คิริน 9010 (Kirin 9010) [7] ที่เป็นชิปเซ็ต 12 คอร์ ซึ่งผลิตขึ้นโดย SMIC ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ โดยใช้เทคโนโลยีการทำชิประดับ 7 นาโนเมตร

ทั้งนี้พวกนักวิเคราะด์ด้านเทคโนโลยีบอกว่า คิริน 9010 ทำขึ้นโดยใช้กระบวนการ N+2 (N+2 process) ซึ่งก็ถูกใช้ในการผลิตโปรเซสเซอร์ คิริน 9000เอส เช่นกัน

เชิงอรรถ

[1] https://www.ft.com/content/cf965960-b083-49ee-bae1-6ce95fe872a3
[2]https://www.sec.gov/ix?doc=/Archives/edgar/data/50863/000005086324000086/intc-20240508.htm
[3] https://www.reuters.com/technology/intel-flags-revenue-hit-us-revokes-certain-export-licenses-chinese-customer-2024-05-08/
[4]https://english.news.cn/20240508/9080679de7b34e4286fbe483fd79a544/c.html
[5] https://www.globaltimes.cn/content/1207121.shtml
[6] https://www.canalys.com/newsroom/china-smartphone-market-Q1-2024
[7]https://mbd.baidu.com/newspage/data/landingsuper?context=%7B%22nid%22%3A%22news_10130991239051127438%22%7D&n_type=1&p_from=4
กำลังโหลดความคิดเห็น