รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งเปิดทางให้อินเทล (Intel) และควอลคอมม์ (Qualcomm) ยังคงสามารถส่งออกชิปสำหรับแล็ปท็อปและอุปกรณ์มือถืออื่นๆ ให้บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ของจีน โดยคำสั่งนี้มีผลบังคับทันที
สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวซึ่งระบุว่า บริษัทบางแห่งเพิ่งจะได้รับหนังสือแจ้งเมื่อวันอังคาร (7 พ.ค.) ว่าใบอนุญาตส่งออกถูกยกเลิกโดยมีผลทันที
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกมายืนยันในวันเดียวกันว่า มีการยกเลิกใบอนุญาตส่งออกจริง ทว่าไม่ขอเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับผลกระทบ และไม่ชี้ชัดว่าเป็นสินค้าใดบ้าง
“เราได้เพิกถอนใบอนุญาตบางฉบับสำหรับการส่งออกสินค้าให้แก่หัวเว่ย” คำแถลงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุ
โฆษกอินเทลยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับควอลคอมม์ที่ไม่ขอคอมเมนต์ ส่วนหัวเว่ยก็ยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ มีขึ้น หลังจากเมื่อเดือน เม.ย. หัวเว่ยได้เปิดตัวแล็ปท็อปรุ่นใหม่ MateBook X Pro ซึ่งใช้ Core Ultra 9 ชิปรุ่นใหม่ของอินเทลเป็นขุมพลังในการประมวลผล
การเผยโฉม MateBook X Pro ออกสู่ท้องตลาดทำให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ถูก ส.ส.รีพับลิกันรุมตั้งคำถามซักฟอกทันทีว่าเปิด “ไฟเขียว” ให้อินเทลขายชิปให้หัวเว่ยได้อย่างไร
มาตรการเพิกถอนใบอนุญาตครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลเสียทั้งต่อหัวเว่ยที่ยังต้องพึ่งชิปของอินเทลในการผลิตแล็ปท็อป ขณะที่บริษัทซัปพลายเออร์สัญชาติอเมริกันที่ทำธุรกิจกับหัวเว่ยก็ย่อมจะได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน
หัวเว่ยถูกเพิ่มชื่อลงในบัญชีคว่ำบาตรการค้าหรือที่เรียกว่า entity list ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 โดยสหรัฐฯ อ้างว่าอุปกรณ์ของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมรายนี้อาจถูกจีนใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมชาวอเมริกัน
การถูกขึ้นบัญชีจำกัดการค้ายังส่งผลให้บริษัทอเมริกันที่เป็นซัปพลายเออร์ของหัวเว่ยจำเป็นต้องขอ “ใบอนุญาตพิเศษ” จากทางการสหรัฐฯ และผ่านกระบวนการตรวจสอบที่ยุ่งยากกว่าจะส่งสินค้าให้ทางหัวเว่ยได้
กระนั้นก็ตาม บริษัทอเมริกันหลายเจ้ารวมถึงอินเทลยังคงมีใบอนุญาตส่งออกสินค้าให้หัวเว่ยคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ รวมถึงฉบับเจ้าปัญหาที่ออกในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งช่วยให้อินเทลยังคงส่งออกชิปสำหรับใช้กับแล็ปท็อปให้หัวเว่ยได้มาตั้งแต่ปี 2020
ทางด้านควอลคอมม์ ก็ได้จำหน่ายชิป 4G สำหรับใช้ในสมาร์ทโฟนให้ทางหัวเว่ย หลังได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2020 ทว่าล่าสุดบริษัทได้ชี้แจงผ่านเอกสาร regulatory filing เมื่อต้นเดือน พ.ค. ว่า หลังผ่านพ้นปีนี้คงจะไม่มีรายได้จากการขายชิปให้หัวเว่ยอีก
อย่างไรก็ดี รอยเตอร์ระบุว่า ควอลล์คอมม์ยังคงอนุญาตถ่ายโอนเทคโนโลยี 5G กับหัวเว่ย โดยเมื่อปีที่แล้วหัวเว่ยได้เริ่มใช้ชิป 5G ที่ผลิตโดยบริษัท HiSilicon ในเมืองเซินเจิ้น ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของนักวิเคราะห์ว่าชิปเหล่านี้อาจถูกผลิตโดยฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
ที่มา : รอยเตอร์