โจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ออกมาเรียกร้องวันนี้ (15 พ.ค.) ให้องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุญาตให้ผู้แทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง หากให้ความสำคัญกับเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หรือ “Health for All” อย่างแท้จริง
องค์การระหว่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธไม่ให้ผู้แทนจากไต้หวันเข้าร่วมการประชุม ด้วยเกรงจะสร้างความขุ่นเคืองให้ “จีน” ซึ่งถือว่าเกาะแห่งนี้เป็นดินแดนในอธิปไตย
ไต้หวันเคยส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ (observer) ตั้งแต่ปี 2009-2016 ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ซึ่งลงนามข้อตกลงการค้าและการท่องเที่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่
อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งเริ่มคัดค้านการเข้าร่วมของไต้หวันในปี 2017 หลังประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ขึ้นมาเป็นผู้นำไทเป เนื่องจาก ไช่ ไม่ยอมรับหลักการที่ว่าไต้หวันกับจีนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” (one China)
สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนแถลงเมื่อวันจันทร์ (13) ว่า การที่ไต้หวันที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม WHA ได้เกิดจากพรรครัฐบาลไต้หวันเองที่ “ขาดพื้นฐานทางการเมือง” ในขณะที่ไทเปออกมาโต้ว่าปักกิ่ง “ไม่มีสิทธิ” พูดหรือเป็นตัวแทนไต้หวันในเวทีนานาชาติ
รัฐมนตรี อู๋ ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาว่า ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ควรริเริ่มเชิญไต้หวันกลับเข้าร่วมประชุม WHA ที่จะจัดขึ้นในเดือนนี้ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” นอกจากนี้ ก็ควรที่จะอนุญาตให้ไต้หวันได้มีส่วนร่วมกับการประชุม กิจกรรม และระบบต่างๆ ของ WHO “ทุกครั้ง” เพื่อให้เป็นไปตามธรรมนูญของอนามัยโลกที่ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการมีสุขภาพที่ดี และเพื่อบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า หรือ Health for All
อู๋ ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อด้วยว่า ไต้หวัน “เผชิญความยากลำบากอย่างยิ่ง” ในการจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับ WHA ในปีนี้ แต่มีจำนวนประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สนับสนุนให้ไต้หวันได้รับเชิญเข้าประชุม
WHO ยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อในประเด็นนี้
เมื่อต้นเดือน พ.ค. แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าวอชิงตัน “สนับสนุนอย่างยิ่ง” ให้ WHO รื้อฟื้นคำเชิญไต้หวัน
สำหรับการประชุม WHA ปีนี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 27 พ.ค. หรือหลังจากที่ ไล่ ชิงเต๋อ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอย่างเป็นทางการประมาณ 1 สัปดาห์
ที่มา : รอยเตอร์