xs
xsm
sm
md
lg

พาดพิงใคร!? ปธน.จีนบอกอดีตผู้นำไต้หวัน ไม่ว่าหน้าไหนก็มิอาจขัดขวางการรวมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระบุเมื่อวันพุธ (10 เม.ย.) "การแทรกแซงจากภายนอก" จะไม่สามารถหยุดยั้งปักกิ่งจากการรวมชาติกับไต้หวัน ในระหว่างที่เขาพบปะกับอดีตผู้นำของเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ ในความเคลื่อนไหวทางการทูตข้ามช่องแคบที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก

หม่า อิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน เดินทางมายังจีน ส่วนหนึ่งในสิ่งที่เขาเรียกว่า "การเดินทางเพื่อสันติ" สำหรับสยบความตึงเครียดกับปักกิ่ง ซึ่งอ้างว่าเกาะแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และไม่เคยปฏิเสธความเป็นไปได้ในการใช้กำลังดึงไต้หวันกลับเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุม

สี ให้การต้อนรับคณะทูตที่นำโดย หม่า ในปักกิ่ง ในช่วงบ่ายวันพุธ (10 เม.ย.) ตามรายงานของสื่อมวลชนจีนและไต้หวัน ในการพบปะกันแบบที่ไม่ค่อยพบเห็นนัก ระหว่างผู้นำปัจจุบันหรืออดีตผู้นำของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะในปักกิ่งหรือไทเป และมันเป็นการพบปะกันครั้งแรกนับตั้งแต่การประชุมซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างทั้ง 2 คนในปี 2015 โดยคราวนั้นเกิดขึ้นตอนที่ หม่า ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน

"ประเทศจีนมีลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของทั้ง 2 ฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวัน และจารึกข้อเท็จจริงไว้ว่า เพื่อนร่วมชาติของเรามีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด" สีกล่าว ในวิดีโอของการประชุมที่ออกอากาศผ่านทางสำนักข่าวทีวีบีเอสของไต้หวัน

"ไม่มีขุมกำลังใดที่สามารถแยกเราได้ ความแตกต่างในทางระบบไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเชิงภาวะวิสัยที่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดียวกันและเป็นคนคนเดียวกัน" สีบอกกับหม่า "การแทรกแซงจากภายนอกไม่อาจหยุดเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในการรวมชาติของเรา"

หม่า ได้นำคณะผู้แทนที่ประกอบด้วยนักศึกษาชาวไต้หวัน เดินทางมาเยือนในครั้งนี้ด้วย และทั้งหมดได้เดินทางเยี่ยมชมบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง มหาวิทยาลัยต่างๆ และแหล่งที่ตั้งทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เดินทางมาถึงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ หม่า กล่าวกับ สี ว่า "คนหนุ่มสาวของ 2 ฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน เป็นตัวแทนอนาคตแห่งชาติจีน ถ้าสงครามระหว่าง 2 ฝ่ายปะทุขึ้น มันจะก่อภาระจนแทบแบกรับไม่ไหวสำหรับประเทศจีน" เขาระบุ "แน่นอนว่า ประชาชนจีนในทั้ง 2 ฟากฝั่งของช่องแคบมีภูมิปัญญามากพอที่จะจัดการกับประเด็นข้อพิพาทอย่างสันติวิธีและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง" หม่ากล่าว พร้อมบอกว่าพวกเขาควรคัดค้านการเป็นเอกราชของไต้หวันเช่นกัน

หม่า เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน 2 สมัย ระหว่างปี 2008 และ 2016 ในฐานะตัวแทนของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ถูกมองว่าเปิดกว้างแก่จีนมากกว่า

เขาอำนวยความสะดวกการปรับปรุงความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ และจัดการพูดคุยเจรจาเชิงสัญลักษณ์กับ สี จิ้นผิง ในสิงคโปร์ เมื่อ 9 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกระหว่างพวกผู้นำทางการเมืองของจีนและไต้หวัน นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองของจีนในปี 1949

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย ดำดิ่งลงนับตั้งแต่ศึกเลือกตั้งปี 2016 เมื่อ ไช่ อิง-เหวิน ผู้สืบสอดตำแหน่งของ หม่า ปฏิเสธคำกล่าวอ้างต่างๆ ของปักกิ่ง

นับตั้งแต่นั้น จีนได้ยกระดับกดดันทั้งทางการทูตและการทหาร รวมถึงไม่ตัดความเป็นไปได้ในการใช้กำลังรวมชาติกับไต้หวัน

การคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งของ ไล่ ชิงเต๋อ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของไช่ อิง-เหวิน ดูเหมือนทำให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบเลวร้ายลง ด้วยปักกิ่งประณามเขาว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนที่อันตราย

โฆษกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไล่ ระบุว่าการเดินทางเยือนปักกิ่งของหม่า จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อไต้หวัน หากเขาพูดในนามของพรรคก๊กมินตั๋ง "จนถึงตอนนี้เรายังไม่เห็นพรรคก๊กมินตั๋งออกมารับรองหรือเห็นชอบกับการเดินทางเยือนของหม่า ดังนั้นเราจึงอยากรู้อย่างยิ่งเกี่ยวกับทัศนคติของพวกเขาต่อเรื่องนี้ ดูเหมือน หม่า จะเป็นแฟนตัวยงของจีน และอยากจะไปร่วมกับจีน"

กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ใช้น้ำเสียงเข้มข้นกว่า โดยบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่ปักกิ่งฉวยประโยชน์จากการพบปะกันครั้งนี้ ในการปล่อยโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของพวกเขาต่อไต้หวัน

ไต้หวัน เป็นหนึ่งในประเด็นที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และสี จิ้นผิง พูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดน กดดัน สี ให้รับประกันสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบ ก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของไล่ ในเดือนพฤษภาคม

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น