รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐบอกคองเกรส ถ้าจีนบุกไต้หวันและเข้ายึดบริษัทชิปชั้นนำอย่าง ทีเอสเอ็มซี จะส่งผลเลวร้ายอย่างมากกับเศรษฐกิจอเมริกา พร้อมกันนี้ยังประกาศว่า อาจแบนระบบต่อเชื่อมยานยนต์ผ่านออนไลน์หรือ connected car ที่ทำในจีน โดยขอรอผลการสอบสวนด้านความมั่นคงแห่งชาติ
จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ตอบคำถามระหว่างไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรอเมริกันเมื่อวันพุธ (8 พ.ค.) ว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะเสียหายอย่างมาก ถ้าจีนบุกไต้หวันและเข้ายึด ทีเอสเอ็มซี ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่และโรงงานสุดทันสมัยอยู่บนเกาะไต้หวัน โดยปัจจุบัน บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก และก็เป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญของแอปเปิล
อย่างไรก็ดี ไรมอนโดไม่ได้ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือเมื่อใด เพียงแต่บอกว่า ปัจจุบัน อเมริกาสั่งซื้อชิปไฮเทคระดับก้าวหน้าถึง 92% จากทีเอสเอ็มซีในไต้หวัน
ขณะที่ ทีเอสเอ็มซีเองยังไม่แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไรมอนโดประกาศว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้เงินอุดหนุนบริษัทในเครือของทีเอสเอ็มซีที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯจำนวน 6,600 ล้านดอลลาร์สำหรับการตั้งโรงงานเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้าสูงสุด ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา และให้เงินกู้ต้นทุนต่ำสูงสุด 5,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากทีเอสเอ็มซีตกลงลงทุนเพิ่มอีก 25,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 65,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานในแอริโซนาเพิ่มเป็นแห่งที่ 3 ภายในปี 2030
ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ทีเอสเอ็มซีคาดหมายว่า จะเริ่มต้นการผลิตชิปจำนวนมากในโรงงานแห่งแรกในอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ส่วนพวกนักวิเคราะห์หลายรายมองว่าโครงการนี้ต้องเลื่อนช้ามาเป็นปี โดยที่ทีเอสเอ็มซีบ่นว่าแรงงานอเมริกัน ไม่มีคุณภาพในระดับเดียวกับแรงงานที่ไต้หวัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อปี 2022 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศและลดการพึ่งพิงชิปจากเอเชีย โดยมีการอนุมัติเงินช่วยเหลือด้านการวิจัยและผลิต 52,700 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 75,000 ล้านดอลลาร์
ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินว่า หากการผลิตชิปในไต้หวันหยุดชะงักลงอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ผู้ผลิตปลายน้ำในอเมริกาต้องจ่ายค่าลอจิกชิปแพงขึ้นถึง 59%
ในวันเดียวกันนี้ ไรมอนโดยังกล่าวว่า อเมริกาอาจดำเนินการขั้นรุนแรง ถึงขนาดแบนหรือกำหนดข้อจำกัดกับพวกระบบ connected car (ระบบที่ทำให้รถยนต์ต่างๆ สามารถสื่อสารระหว่างกันทางออนไลน์และเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายต่างๆ) ของจีน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบุว่า การแบนเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทางการสหรัฐฯอาจเลือกใช้ ภายหลังการสอบสวนเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
ไรมอนโด เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังทบทวนความคิดเห็นของสาธารณชนเกี่ยวกับการสอบสวนของคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า รถนำเข้าจากจีนเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่
รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ เสริมว่า กระทรวงต้องวิเคราะห์ข้อมูลและพิจารณามาตรการดำเนินการต่อไป ซึ่งอาจเป็นการดำเนินการขั้นรุนแรง เช่น แบนระบบ connected car ของจีนโดยสิ้นเชิง หรือหาวิธีลดความเสี่ยงที่รวมถึงมาตรการป้องกันหรือข้อกำหนดอื่นๆ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำเนียบขาวแถลงว่า การเปิดการสอบสวนดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่ระบบ connected car สามารถเก็บข้อมูลอ่อนไหวจำนวนมากเกี่ยวกับผู้ขับและผู้โดยสาร อีกทั้งยังใช้ระบบกล้องและเรดาร์ของรถมาบันทึกข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกาอย่างละเอียด
ในตอนนั้นเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวแถลงว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่า จะดำเนินการกับระบบ connected car ของจีนอย่างไร
ไรอนโดยังกล่าวระหว่างให้ปากคำในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธว่า เธอกังวลกับ connected car ของจีนที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลมากมายมหาศาลของคนอเมริกัน ทั้งในเรื่อง ที่อยู่ บทสนทนาในรถ จุดหมายปลายทางของการเดินทาง รูปแบบการขับขี่ และเสริมว่า อเมริกาจำเป็นต้องจัดการกับความเสี่ยงจาก connected car และเทคโนโลยีอื่นๆ ของจีนอย่างจริงจังมากขึ้น
ทางด้านไบเดนนั้นย้ำมาหลายครั้งว่า จะดำเนินการเพื่อป้องกันรถนำเข้าจากจีนท่วมตลาด ถึงแม้ในขณะนี้ อเมริกานำเข้ายานยนต์ขนาดเล็กจากจีนน้อยมาก
อย่างไรก็ดี สำหรับพวกผู้ผลิตรถในอเมริกาเวลานี้ ได้กล่าวย้ำว่ามันอาจจะเป็นเรื่องลำบากที่จะดำเนินการยกเครื่องใหม่ระบบเทคโนโลยีของพวกเขาเพื่อผ่อนคลายความกังวัลทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ
ในหนังสือแสดงความคิดเห็นส่งถึงกระทรวงพาณิชย์ลงวันที่ 30 เมษายน กลุ่มพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมทางรถยนต์ (Alliance for Automotive Innovation) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์ส, โตโยต้า, โฟล์กสวาเกน และผู้ผลิตรถรายใหญ่แทบทุกเจ้า กล่าวว่า ทางผู้ผลิตรถมีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะพัฒนากรอบโครงสำหรับรองรับเทคโนโลยีและระบบบริการต่างๆ ในด้านสารสนเทศและการสื่อสารในยานยนต์ที่มีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ในลักษณะที่จะสามารถบรรเทาความเสี่ยงซึ่งเกี่ยวข้องกับพวกระบบที่ออกแบบโดยบริษัทจีน
แต่พวกเขาก็เตือนว่าระบบของยานยนต์ “รวมไปถึงพวกชิ้นส่วนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ (ของระบบยานยนต์เหล่านี้ด้วย) มีการดำเนินการทางวิศวกรรม, การทดสอบต่างๆ, และกระบวนการตรวจเช็กความถูกต้อง ในช่วงก่อนหน้าการดำเนินการผลิตอย่างกว้างขวาง และโดยทั่วไปแล้วไม่สามารถที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบหรือส่วนประกอบจากซัปพลายเออร์รายอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย”
ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นแยกต่างหากออกไปโดยกล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์เกาหลี “แสดงความกังวลเกี่ยวกับขนาดขอบเขตอันกว้างขวางของการสอบสวนเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่ ตลอดจนความไม่แน่นอนต่างๆ อันสืบเนื่องจากขนาดขอบเขตของเป้าหมายทางด้านกฎระเบียบที่อาจจะมีการจัดทำขึ้นมา รวมทั้งจังหวะเวลาของการประกาศบังคับใช้ ทั้งหมดเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเพิ่มภาระมากขึ้นอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้”
มีรายงานด้วยว่าคณะบริหารของไบเดนยังกำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นกับรถที่ผลิตในจีน อีกทั้งยังเผชิญแรงกดดันให้จำกัดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีนซึ่งผลิตในเม็กซิโก
ทางฝั่งจีนนั้น กระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อเดือนมีนาคมว่า เหตุผลที่รถจีนได้รับความนิยมทั่วโลกไม่ใช่เพราะมีการใช้แนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะผู้ผลิตสามารถผงาดขึ้นมาจากการแข่งขันอันดุเดือดในตลาด และการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเจนซีส์)