xs
xsm
sm
md
lg

สภาสหรัฐฯ โหวตท่วมท้นแบนติ๊กต็อก ไม่สนเสียงคัดค้านปิดกั้นเสรีภาพผู้ใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตรับรองร่างกฎหมายบังคับให้ไบต์แดนซ์ขายติ๊กต็อก หรือปล่อยให้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมนี้ถูกแบนจากตลาดอเมริกา ด้านติ๊กต็อกออกแถลงการณ์ร้องเรียนทันควันชี้เป็นการเหยียบย่ำสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ทำลายธุรกิจ 7 ล้านแห่ง และปิดแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ปีละ 24,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่อเมริกาและตะวันตกกังวลว่า ความนิยมในติ๊กต็อกในหมู่หนุ่มสาวจะเปิดโอกาสให้จีนสอดแนมข้อมูลผู้ใช้ เฉพาะอเมริกามีผู้ใช้แอปนี้ถึง 170 ล้านราย

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังกล่าวหาว่า ติ๊กต็อกอยู่ใต้อำนาจของปักกิ่ง และเป็นช่องทางเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของจีน ซึ่งทั้งรัฐบาลจีนและติ๊กต็อกต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนท่วมท้น 360 ต่อ 58 เสียงเมื่อวันเสาร์ (20 เม.ย.) ซึ่งอาจนำไปสู่ขั้นตอนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในการกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจในอเมริกานั้น จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า จะลงนามรับรองร่างกฎหมายนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ย้ำความกังวลเกี่ยวกับติ๊กต็อกระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเมื่อต้นเดือน

การยื่นคำขาดต่อติ๊กต็อกครั้งนี้รวมอยู่ในร่างกฎหมายการให้ความช่วยเหลือยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน

ทางด้านติ๊กต็อกร้องเรียนทันควันโดยออกแถลงการณ์ระบุว่า น่าเสียดายที่สภาล่างสหรัฐฯ อาศัยร่างกฎหมายความช่วยเหลือต่างประเทศและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเร่งรัดร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อก ซึ่งจะเป็นการเหยียบย่ำสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ทำลายธุรกิจ 7 ล้านแห่ง และปิดแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ปีละ 24,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ไบต์แดนซ์ บริษัทไฮเทคสัญชาติจีน ต้องเลือกระหว่างขายกิจการติ๊กต็อกในอเมริกาภายใน 1 ปี หรือติ๊กต็อกถูกถอดออกจากแอปสโตร์ของแอปเปิลและกูเกิลในอเมริกา

เดือนที่แล้ว สภาล่างสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อกที่กำหนดให้ไบต์แดนซ์ต้องขายหุ้นติ๊กต็อกให้บริษัทสัญชาติอเมริกันภายใน 6 เดือน หรือถูกแบนในอเมริกา ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายนี้อยู่ในการพิจารณาของสภาสูง

สตีเวน มนูชิน อดีตรัฐมนตรีคลังในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจซื้อกิจการติ๊กต็อก และขณะนี้กำลังรวบรวมกลุ่มนักลงทุน

ติ๊กต็อกตกเป็นเป้าหมายการเพ่งเล็งของทางการสหรัฐฯ มานานหลายปี ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า แพลตฟอร์มยอดฮิตนี้ช่วยให้ปักกิ่งสอดแนมผู้ใช้ในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายแบนติ๊กต็อกอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุแอปพลิเคชันที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ หากแอปดังกล่าวควบคุมโดยประเทศที่ถือเป็นศัตรูของอเมริกา

วันศุกร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์ในอดีต ออกมาต่อต้านการแบนติ๊กต็อกโดยระบุว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อเอ็กซ์ แต่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คน
กำลังโหลดความคิดเห็น